ผักเหลียง สุดยอดผักไม้ป่า ปลูกไว้ขายก็ดีปลูกไว้กินก็เยี่ยม

ชื่อภาษาอังกฤษ

Baegu

ชื่อวิทยาศาสตร์

Gnetum gnemon var. tenerum

ความหมาย

เป็นพันธุ์ไม้ป่า และผักที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ประกอบด้วยสารอาหาร แร่ธาตุ และวิตามินหลากหลายชนิด

ความเชื่อ

ผักเหลียง ชื่อสามัญ หรือชื่อภาษาอังกฤษ Baegu ชื่อวิทยาศาสตร์ Gnetum gnemon var. tenerum ชื่อวงศ์ Gnetaceae ชื่ออื่น ๆ ผักเหมียง (พังงา,ภูเก็ต,กระบี่),ผักเขลียง (สุราษฎร์ธานี,นครศรีธรรมราช),ผักเปรียง (นครศรีธรรมราช),กะเหรียง (บางท้องถิ่นของจังหวัดชุมพร)

ผักเหลียงเป็นพันธุ์ไม้ป่า มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชียบริเวณคาบสมุทรมาลายู พบแพร่กระจายทั้งในประเทศไทย มาเลเซีย และหมู่เกาะบอร์เนียว เติบโตได้ดีในภูมิอากาศร้อนชื้น พบแพร่กระจายบนพื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 50-200 เมตร โดยประเทศไทยพบแพร่กระจายทั่วไปบริเวณเชิงเขา และที่ราบในภาคใต้ บริเวณจังหวัดชุมพร สุราษฏร์ธานี ระนอง พังงา และกระบี่

การขยายพันธุ์ผักเหลียง
www.xn--12cl1ca7azax8dzb0cwff0m.com

ลักษณะทั่วไป

ลำต้น

ผักเหลียงเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีลักษณะเป็นทรงพุ่มเตี้ย ๆ ลำต้นมีขนาด 10-30 มิลลิเมตร สูงประมาณ 2-3 เมตร ลำต้นและกิ่งมีลักษณะเป็นข้อ ๆ ลำต้นแตกกิ่งแขนงมาก และแตกไหลออกด้านข้าง จนดูเป็นทรงพุ่มหนาทึบ เปลือกลำต้นมีสีน้ำตาล กิ่งอ่อนมีสีเขียวเข้มแต่ละกิ่งไม่มีการสลัดทิ้ง กิ่ง ลำต้น เป็นไม้เนื้ออ่อน กิ่งเปราะหักง่าย

ใบ

ผักเหลียงเป็นพืชใบเลี้ยงคู่ มีลักษณะใบคล้ายใบยางพารา ใบแตกออกที่ปลายกิ่งแขนงแตกออกเป็นใบเดี่ยวตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ ใบมีลักษณะรี มีก้านใบยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร โคนใบสอบ ปลายใบเรียวแหลม ขนาดใบกว้างประมาณ 4-10 เซนติเมตร ยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร แผ่นใบมีสีเขียวเข้ม แผ่นใบบาง แต่เหนียว ใบอ่อนมีสีแดงอมส้ม มีรสหวานมัน

ดอก

ผักเหลียงออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง แต่ละช่อดอกเป็นช่อดอกแบบเชิงลด มีความยาวช่อประมาณ 2-5 เซนติเมตร แยกออกเป็นต้นดอกช่อตัวผู้ และต้นดอกสมบูรณ์เพศแยกต้นกัน ดอกตัวผู้ออกเป็นช่อ ยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร ช่อดอกมีลักษณะเป็นข้อ ๆ ที่มีดอกตัวผู้เรียงล้อมข้อ ตัวดอกมีขนาดเล็ก มีกลีบดอกสีขาว ส่วนตัวดอกสมบูรณ์เพศมีช่อดอกยาวประมาณ 5-7 เซนติเมตร ดอกมีขนาดใหญ่กว่าดอกต้นตัวผู้ ทั้งดอกตัวผู้ และดอกตัวเมียเรียงล้อมบนข้อเหมือนต้นดอกตัวผู้ ประมาณ 7-10 ข้อ ทั้งนี้ ดอกผักเหลียงจะเริ่มออกในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม

ผล

ผักเหลียงออกรวมกันบนช่อ แต่ละช่อมีผลประมาณ 10-20 ผล ผลมีลักษณะเป็นรูปกระสวย กว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 2.5-4 เซนติเมตร เปลือกผลค่อนข้างหนา ผลอ่อนมีสีเขียว ผลสุกมีสีเหลือง เนื้อผลมีรสหวาน ทั้งนี้หลังออกดอก ดอกผักเหลียงจะเริ่มติดผลในช่วงเดือนกุมภาพันธ์- มีนาคม และผลสุกในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน และติดเริ่มผลครั้งแรกเมื่ออายุประมาณ 5-6 ปีขึ้นไป แต่การติดดอกออกผลจะไม่แน่นอน บางปีอาจไม่มีการติดดอกออกผล โดยเฉพาะปีที่ฝนตกชุกมาก

ผลผักเหลียง
www.bansuanporpeang.com

เมล็ด

ผักเหลียงมีรูปไข่หรือรูปกระสวย เปลือกหุ้มเมล็ดบาง และหนา โดยเฉพาะบริเวณขั้วเมล็ด ขนาดเมล็ดกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร เมล็ดค่อนข้างงอกยาก และงอกช้า

สายพันธุ์

ผักเหลียง พบประมาณ 6 สายพันธุ์ พันธุ์ที่นิยมปลูกและรับประทานมากแบ่งเป็น 2 สายพันธุ์ คือ

  1. Gnetum gnemom var.genemon พบแพร่กระจาย และปลูกมากในประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ปาปัวนิวกินี
  2. Gnetum gnemom var. tenerum พบแพร่กระจาย และปลูกในภาคใต้ของไทย

การปลูกผักเหลียง

ผักเหลียงในภาคใต้นิยมปลูกตามสวนหลังบ้าน ตามสวนยาง สวนปาล์มหรือปลูกเป็นผักชนิดเดียวเพื่อเก็บส่งขาย เป็นพืชที่เติบโตได้ดีใต้ร่มไม้อื่น เมล็ดผักเหลียงจะงอกยาก และงอกได้ช้ามาก ดังนั้น การปลูกผักเหลียงจึงนิยมปลูกแบบไม่อาศัยเพศ คือ การปักชำราก การปักชำกิ่ง และการตอนกิ่ง เป็นหลัก มีระยะเวลาการชำหรือการตอนประมาณ 2 เดือน ขึ้นไปจนถึง 3 เดือน จึงจะได้กิ่งพันธุ์พร้อมปลูก

  • การชำรากหรือใช้ต้นอ่อนที่งอกจากราก
    ต้นเหลียงที่เติบโตเต็มที่จะมีระบบรากแข็งแรง และยาว รากเหล่านี้ สามารถแตกหน่อกลายเป็นต้นใหม่ได้ ดังนั้น หากตัดรากมาชำหรือนำรากที่แตกหน่อแล้วมาชำต่อก็สามารถแยกปลูกเป็นต้นใหม่ได้ ทั้งนี้ ไม่ควรนำรากลงปลูก แต่ควรชำในถุงเพาะชำก่อน แล้วดูแลให้แตกยอดสูง 20-30 เซนติเมตร ก่อนนำปลูกลงแปลง
  • การตอนกิ่ง
    กิ่งที่ใช้ตอนควรมีสีน้ำตาล ซึ่งอาจใช้กิ่งกระโดนหรือกิ่งแขนงที่โตเต็มที่ จากนั้นควั่นกิ่งให้ชิดกับข้อ และใช้วัสดุตอนทั่วไป เช่น ขุยมะพร้าว หลังแตกราก ควรให้รากแก่มีสีน้ำตาลก่อนค่อยตัดกิ่งลงเพาะดูแลต่อในกระถาง ดูแลจนกว่าต้นจะตั้งตัวได้ค่อยนำปลูกลงแปลง
  • การปักชำ
    การปักชำจะเลือกกิ่งชำที่มีลักษณะเช่นเดียวกับการตอนกิ่ง จากนั้น ตัดกิ่งชำยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร ก่อนปักชำในถุงเพาะชำหรือในกระถาง ดูแลจนแทงยอดสูง 20-30 เซนติเมตร ค่อยนำปลูกลงแปลง
  • การเพาะเมล็ด
    เมล็ดที่ใช้เพาะจะต้องเป็นเมล็ดที่ได้จากผลที่สุกจัดหรือใช้เมล็ดจากผลที่ร่วงลงดินแล้ว จากนั้น นำผลมาตากแห้ง ก่อนห่อรวบรวมไว้ในถุงผ้า นาน 2-3 เดือน เพื่อให้เมล็ดได้พักตัว จากนั้น ค่อยนำเมล็ดลงเพาะในถุงเพาะชำ ซึ่งเมล็ดจะเริ่มงอกตั้งแต่ 4 เดือน ขึ้นไป และอาจนานเป็นปีกว่าจะงอก ดังนั้น วิธีขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดจึงไม่เป็นที่นิยมนัก
วิธีปลูกผักเหลียงในกระถาง
puechkaset.com

การเก็บยอดผักเหลียง

ผักเหลียงหลังการปลูกประมาณ 1 ปี จะโตได้กว่า 1 เมตร โดยเริ่มเก็บยอดได้ตั้งแต่ 1-2 ปี ขึ้นไป และสามารถเก็บยอดอ่อนได้ตลอดทั้งปี การเก็บยอด ควรเก็บต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรปล่อยให้เกิดยอดแก่ แต่หากเกิดยอดแก่ ให้ตัดโคนยอดทิ้ง เพื่อให้แตกยอดอ่อนใหม่ หลังเก็บแล้วประมาณ 15 วัน กิ่งเหลียงจะเริ่มแตกยอดใหม่ และใช้เวลาพัฒนายอดอีกประมาณ 10-15 วัน จึงพร้อมเก็บ ดังนั้น ใน 1 เดือน จะเก็บยอดเหลียงได้ประมาณ 1 ครั้ง การเก็บยอดแต่ละครั้ง ให้เด็ดหรือตัดใกล้ข้อ ไม่ควรเด็ดกลางหรือปลายข้อ เพราะจะทำให้ยอดใหม่แตกช้า โดยควรเก็บในช่วงเช้าหรือเย็นที่แสงแดดไม่ร้อน ทั้งนี้ การเด็ดหรือเก็บยอดเหลียงให้ระวังน้ำยางไม่ให้เข้าตา เพราะหากเข้าตาจะทำให้ระเคือง และแสบตาได้ หลังเก็บยอดเหลียง ควรพรมน้ำให้ชุ่มตลอดหรือเก็บรักษาไว้ในตู้เย็นหรือรีบบรรจุถุงส่งจำหน่าย เพราะผักเหลียงจะเหี่ยวเร็วหากเก็บไว้นานโดยไม่สัมผัสน้ำ โดยปกติหากพรมน้ำหรือเก็บไว้ในร่มที่ชุมจะเก็บได้นาน 5-7 วัน

ประโยชน์และสรรพคุณผักเหลียง

ผักเหลียงเป็นผักที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ประกอบด้วยสารอาหาร แร่ธาตุ และวิตามิน หลายชนิดอย่างเช่น เบต้าแคโรทีน ที่สูงกว่าผักบุ้งจีนถึง 3 เท่า และสูงกว่าผักบุ้งไทยถึง 5-10 เท่า ช่วยบำรุงเส้นเอ็น บำรุงกระดูก บำรุงสายตา และแก้โรคซางในเด็ก นอกจากนี้ยังมีประโยชน์อีกหลายอย่างอาทิ

  1. ยอดผักเหลียง กรอบ เมื่อรับประทานสด นุ่ม เมื่อปรุงสุก มีรสชาติอร่อย หวานมัน นิยมรับประทานสด หรือใช้ประกอบเป็นอาหาร เช่น แกงเลียง ผัดใส่ไข่ แกงจืด แกงกะทิ และแกงไตปลา เป็นต้น
  2. ผักเหลียง ใช้เคี้ยวหรือรับประทานสดแก้หิว แก้ท้องว่าง ช่วยบำรุงร่างกาย เพิ่มกำลังวังชา แก้อาการขาดน้ำ โดยเฉพาะเวลาเดินทางไกลหรือเดินป่า
  3. เมล็ดใช้คั่วรับประทานเป็นของขบเคี้ยวคล้ายถั่ว ส่วนประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย นิยมใช้เนื้อเมล็ดมาบด ก่อนรีดเป็นแผ่นและทอดใช้ทำข้าวเกรียบ
  4. ยางจากลำต้นใช้ทาลอกฝ้า ช่วยให้หน้าขาวใส
  5. ผลเหลียงสุกมีรสหวาน สามารถรับประทานได้ และเป็นแหล่งอาหารสำคัญของสัตว์ป่า
  6. ผักเหลียงช่วยในการอนุรักษ์ดินและน้ำ ป้องกันการกัดเซาะหน้าดิน ช่วยชะลอการไหลซึมของน้ำ ช่วยให้หน้าดินชุ่มชื้นนาน ช่วยป้องกันไฟป่า ช่วยบำรุงดิน ป้องกันหน้าดินแข็ง เอื้อต่อการเติบโต และให้ผลผลิตของพืชหลักในแปลง
ผักเหลียง เมนู
mthai.com

แหล่งที่มา

อยากให้มีเนื้อหาเรื่องอะไรเพิ่มเติม หรือมีความคิดเห็นอย่างไร เชิญคอมเม้นท์ไว้ได้เลยครับ