ชื่อวิทยาศาสตร์ Elaeocarpus hygrophilus Kurz
ชื่อวงศ์ ELAEOCARPACEAE
ชื่ออื่น ๆ สมอพิพ่าย(ระยอง),สารภีน้ำ(ภาคกลาง),สีชัง
ต้นมะกอกน้ำ เป็นผลไม้พื้นบ้านของไทย ทนน้ำท่วม จัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบแต่ไม่พร้อมกัน มีความสูงของต้นประมาณ 8-15 เมตร แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มโปร่ง มีรูอากาศเป็นแนวยาว เปลือกลำต้นค่อนข้างเรียบเป็นสีน้ำตาล มีรอยแตกเป็นร่องเล็ก ๆ ตื้น ๆ ตามความยาวของลำต้น ตามกิ่งมีรอยแผลใบชัดเจน ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดและการตอนกิ่ง เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ชื้นหรือบริเวณริมน้ำ ในประเทศไทยพบได้มากในภาคกลาง โดยเฉพาะในพื้นที่ชุ่มชื้นและอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำ ริมน้ำ ตามชายฝั่งทะเล ตามป่าโกงกาง ป่าพรุ
แหล่งกำเนิดและการแพร่กระจาย
มะกอกน้ำ ไม่ทราบแหล่งกำเนิดที่ชัดเจน แต่หากดูจากนิสัยแล้วทำให้เชื่อว่ากำเนิดในลุ่มของป่าฝนเมืองร้อนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แถวแถบคาบสมุทรมลายูขึ้นมาถึงภาคเหนือตอนล่างของไทย มะกอกน้ำขึ้นได้ดีตั้งแต่มาเลเซียจนถึงจังหวัดเหนือสุดของไทย พบได้บริเวณริมน้ำและลำห้วย ปัจจุบันนิยมปลูกทั่วไป ออกดอกและติดผลช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม
ลักษณะทั่วไป
- ลำต้นมะกอกน้ำ
เปลือกลำต้นค่อนข้างเรียบ สีน้ำตาล ตามกิ่งมีรอยแผลใบชัดเจน
- ใบมะกอกน้ำ
ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนสลับหนาแน่นที่บริเวณปลายกิ่ง ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนาน รูปไข่กลับ หรือเป็นรูปแกมรูปใบหอก ปลายใบมนหรือป้าน โคนใบสอบ ส่วนขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 6-12 เซนติเมตร ท้องใบและหลังใบเรียบ ผิวใบเป็นมันสีเขียวเข้ม ส่วนใบอ่อนเป็นสีเขียวอมเหลือง ก้านใบอ่อนเป็นสีออกแดงเข้ม ส่วนก้านใบแก่เป็นสีแดงอมน้ำตาล ยาวประมาณ 0.5-2 เซนติเมตร
- ดอกมะกอกน้ำ
ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบ ช่อดอกยาวประมาณ 2-10 เซนติเมตร ส่วนก้านดอกยาวประมาณ 2-7 เซนติเมตร ดอกย่อยเป็นสีขาว ลักษณะห้อยลงคล้ายระฆัง มีขนาดประมาณ 4-8 มิลลิเมตร ดอกมีกลีบดอก 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่กลับ มีขนาดกว้างประมาณ 3-4 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 5-8 มิลลิเมตร ปลายกลีบดอกจักเป็นฝอยเล็ก ๆ ยาวประมาณครึ่งหนึ่งของความยาวกลีบ ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ เป็นสีเขียว ปลายกลีบแหลม ดอกเป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ ภายในดอกมีเกสรเพศผู้ประมาณ 15-25 ก้าน มีเกสรเพศเมีย 1 ก้าน โดยจะออกดอกในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม บ้างว่าออกดอกและติดผลในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม
- ผลมะกอกน้ำ
ผลเป็นผลสดแบบมีเนื้อ ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมรีหรือรูปไข่ มีขนาดกว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตรและยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร ปลายผลเรียวแหลม ผิวผลเรียบเป็นสีเขียว ผลสามารถใช้รับประทาน โดยผลอ่อนจะเป็นสีเขียวอ่อน ผิวผลเกลี้ยง เนื้อในอ่อนนุ่ม มีรสเปรี้ยวอมฝาด ส่วนผลสุกจะเป็นสีส้มหรือสีแดงเข้ม มีรสเปรี้ยวอมหวานและฝาดเล็กน้อย ภายในมีเมล็ดเดี่ยว
- เมล็ด
ลักษณะของเมล็ดมะกอกน้ำเป็นรูปกระสวยหรือรูปรี ปลายเรียวแหลม ผิวเมล็ดขรุขระและแข็งมาก เมล็ดเป็นสีน้ำตาลอ่อน ส่วนก้านผลยาวประมาณ 0.7-1 เซนติเมตร ให้ผลในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนพฤศจิกายน
สายพันธุ์
นางสาวอินทิรา จารุเพ็ง ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับสายพันธุ์ของมะกอกน้ำ ไว้ในเรื่องการศึกษาเปรียบเทียบลักษณะประจำพันทางกิ่งใบและผลของมะกอกน้ำ 3 พันธุ์สายพันธุ์ ไว้ว่า มะกอกน้ำ ที่รู้จักทั่วไปมีอยู่ 3 สายพันธุ์ คือ
- พันธุ์กระดูก
มีลักษณะ ขั้วและปลายผลเรียวแหลม ผลเล็ก เมล็ดใหญ่ ผิวผลขรุขระ เนื้อน้อยและค่อนข้างแข็ง รับประทานไม่อร่อย รสเปรี้ยวอมฝาด ไม่นิยมปลูกเป็นการค้า - พันธุ์หม้อ
มีลักษณะ ผลโตกว่าพันธุ์กระดูก ผลกลม ปลายผลแหลม เมล็ดเล็กเนื้อมาก นุ่ม รสเปรี้ยวอมหวานเล็กน้อย ผลผลิตน้อยกว่าพันธุ์กระดูก นิยมใช้ดอง - พันธุ์ไข่
มีลักษณะ ผลกลม ผิวเรียบ เนื้อหนา เมล็ดเล็ก เนื้อนุ่ม นิยมนำมาดองเค็มและเชื่อมขาย
นอกจาก 3 สายพันธุ์ที่กล่าวมาแล้ว ยังพบว่ามีมะกอกน้ำที่มีลักษณะประจำพันธุ์พิเศษออกไปอีก 3 พันธุ์คือ
- พันธุ์ทะวาย
มะกอกน้ำพันธุ์นี้มีลักษณะค่อนไปทางพันธุ์กระดูก แต่ลักษณะเด่นคือ ให้ผลตลอดปี พบที่ชลบุรี - พันธุ์เนื้อไม่ฝาด
มีถิ่นกำเนิดที่ ต.สัมปทวน อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา ลักษณะผลเหมือนพันธุ์มะกอกหม้อทั่วไป ผลขนาดกลาง ข้อดีคือ เนื้อไม่เปรี้ยวมาก ไม่มีรสฝดเลยถึงผลจะยังไม่แก่จัด - พันธุ์ผลโต
ผลโตขนาดผลมะปราง ผิวผลเรียบ เนื้อนุ่ม เมล็ดเล็ก รสดี ปัจจุบันพบอยู่ 3 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ฉะเชิงเทรา มีนบุรี และกระทุ่มแบน (สมุทรสาคร)
ส่วนมะกอกน้ำพันธุ์ที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายคือ
- พันธุ์แก้มแหม่ม
พบครั้งแรกที่ จ.สุพรรณบุรี มีลักษณะพิเศษ คือ ผลดก และมีขนาดใหญ่ เนื้อนุ่ม เมล็ดเล็ก - พันธุ์แขกดำ
มะกอกน้ำพันธุ์นี้ได้พันธุ์มาจาก อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี ผลจะมีสีเขียวอ่อน ก้นงอน แหลมเล็กน้อย เนื้อหนาและล่อน ไม่ฝาด เมล็ดเล็ก น้ำหนักดี ขนาดผลเมื่อแก่จัดเฉลี่ย 48-55 ผล/กก. - พันธุ์สีนวล
ได้พันธุ์มาจาก อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี ผลมีสีเขียว ก้นผลแหลมแต่ไม่งอน เนื้อหนาแน่น น้ำหนักดี ขนาดผลเฉลี่ยเล็กกว่าพันธุ์แขกดำเล็กน้อย
วิธีการปลูกมะกอกน้ำ
วิธีปลูกต้นมะกอกน้ำหากเป็นการปลูกเชิงพาณิชย์ หลังจากเตรียมพื้นที่เรียบร้อยแล้ว มีขั้นตอนต่อไปคือ
- ขุดหลุมให้มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เมตร ลึก 40 เซนติเมตร ระยะปกติ 4x 6 เมตร หรือ 6 x6 เมตร หากต้องการประหยัดพื้นที่ก็ใช้ระยะชิด 2 x 4 เมตร หรือ 4 x 4 เมตรก็ได้
- รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก นำกิ่งชำหรือกิ่งตอนลงปลูก รดน้ำให้ชุ่มใช้ฟางข้าวหรือเศษหญ้าแห้งคลุมโคน
- ใส่ปุ๋ยคอกและฉีดน้ำหมักมูลสุกรเดือนละ 1-2 ครั้ง และหยุดบำรุงตอนที่ติดผลหากยังบำรุงต่อจะทำให้ผลร่วงได้
วิธีการปลูกมะกอกน้ำในกระถาง
- ใช้กระบะหรือภาชนะที่โตนิดหนึ่ง เจาะรูก้นกระถางเพื่อการระบายน้ำ
- นำเศษหญ้าแห้งวางรองชั้นล่างสุด ใส่ดินปลูกที่ผสมด้วยปุ๋นคอกขี้เถ้าแกลบ ซึ่งเป็นขี้เถ้าที่เกิดจากการเผาแกลบ ในอัตราส่วนที่เท่ากันและคลุกเคล้าให้เข้ากัน
- ใส่ดินปลูกที่ผสมแล้วลงกระถางประมาณครึ่งกระถาง
- นำต้นพันธุ์มะกอกน้ำลงปลูกโดยแกะถุงชำออกก่อน และควรเป็นต้นพันธุ์ที่มาจากการตอนจากต้นที่มีอายุประมาณ 2-3 ปี จะช่วยให้การแทงยอดและออกดอกเร็ว ซึ่งก็หมายถึงการให้ผลผลิตจะเร็วด้วย ที่สำคัญสามารถบังคับ การออกลูกได้ตลอดทั้งปีแม้จะปลูกในกระถางก็ตาม
- นำดินปลูกใส่ปิดทับโคนกดดินพอแน่น เหลือบริเวณส่วนขอบกระถางไว้ประมาณ 2 นิ้ว
- นำท่อพีวีซีขนาด 2 นิ้ว ความยาวสูงกว่ากระถาง 1 เท่าตัว ส่วนปลายท่อพีวีซีใส่ข้องอ นำไปปักในกระถางห่างโคนต้นประมาณ 4-5 นิ้ว ลึกเพียงครึ่งหนึ่งของกระถางให้ส่วนข้องออยู่ด้านบน เพื่อช่วยระบายอากาศภายในกระถางและเติมอากาศลงไปในกระถางให้รากมะกอกได้มีอากาศเพียงพอในการช่วยดูดซับอาหารเลี้ยงลำต้น ใบ ดอก และผล ได้สะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
- ปิดคลุมด้วยฟางข้าวหรือเศษหญ้าแห้ง
- นำไว้ที่ร่มแสงแดดรำไรในช่วงต้น รดน้ำเช้าเย็น ประมาณ 2-3 อาทิตย์รากมะกอกจะออกหาอาหารภายในกระถาง สังเกตได้ที่มะกอกเริ่มแทงยอดอ่อนออกมา ก็สามารถนำไปวางในพื้นที่ที่ต้องการตามความเหมาะสมต่อไป 1-2 อาทิตย์นำออกมาให้เจอกับแสงแดดครั้งหนึ่งประมาณ 2-3 วัน วิธีปลูกในกระถางแบบนี้มะกอกจะติดผลได้ตลอดทั้งปี และมะกอกน้ำจะให้ผลลิตตั้งแต่ปีที่ 2 หลังจากปลูก แต่จะให้ผลผลิตเต็มที่ในปีที่ 3
ประโยชน์หรือสรรพคุณของต้นมะกอกน้ำ
ผลของมะกอกน้ำมีรสฝาดอมเปรี้ยวหวาน นิยมนำไปดอง เชื่อม แช่อิ่มมะกอกน้ำดอง หรือนำผลดิบมาจิ้มกับน้ำปลาหวานรับประทาน ผลแก่นิยมนำมาดองเป็นผลไม้แปรรูป ใช้รับประทานเป็นอาหารว่างได้ เมล็ดอาจนำมากลั่นได้น้ำมัน คล้ายกับน้ำมันโอลีฟ (Olive oil) ของฝรั่ง ชาวสวนในภาคกลางจะนิยมปลูกต้นมะกอกน้ำไว้ตามริมร่องสวน เพื่อให้รากช่วยยึดดิน เพื่อป้องกันการพังทลายของหน้าดินตามริมร่องสวน ปัจจุบันนิยมปลูกไว้เป็นไม้ผลยืนต้นทางเศรษฐกิจ เพราะมีผลผลิตที่สูงอย่างสม่ำเสมอและขายได้ราคาดี แต่มีบ้างที่ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับ เพราะปลูกง่าย โตเร็ว เรือนยอดเป็นทรงพุ่มกลมกว้างและโปร่ง ออกดอกดกขาวเต็มต้น นอกจากนี้ต้นมะกอกน้ำยังมีสรรพคุณทางด้านของสมุนไพรอีกมายมาย เช่น ดอกเป็นยาบำรุงธาตุในร่างกาย เป็นยาแก้พิษโลหิต กำเดา ช่วยแก้ริดสีดวงในลำคอ คันเหมือนมีตัวไต่อยู่ ผลมะกอกน้ํามีรสเปรี้ยวอมหวาน นำมาดองกับน้ำเกลือรับประทาน จะช่วยแก้อาการกระหายน้ำได้ดี และช่วยทำให้ชุ่มคอ ใช้รับประทานแก้เสมหะในลำคอได้ เมื่อนำผลไปดองหรือเชื่อมรับประทาน จะเป็นผลไม้ที่ช่วยในการระบาย และเปลือกต้นแห้งมีรสเฝื่อน นำมาชงกับน้ำรับประทานเป็นยาฟอกเลือดหลังการคลอดบุตรของสตรีได้อีกด้วย