สนทะเล ชื่อสามัญ หรือชื่อภาษาอังกฤษ Australian pine, Beefwood, Common iron wood, False iron Wood, False pine, Queensland swamp oak, Sea oak, She oak, Tree Beefwood ชื่อวิทยาศาสตร์ Casuarina equisetifolia L. ชื่อวงศ์ CASUARINACEAE ชื่ออื่น ๆ กู (นราธิวาส, ภาคใต้), ส่วนภาคกลางเรียกสนทะเล เป็นต้น
สนทะเล เป็นพรรณไม้ยืนต้นมีการกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติ ตามพื้นที่ชายฝั่งทะเล ในประเทศไทยพบกระจายในแถบภาคใต้ ตามชายฝั่งทะเลทั้งทางด้านตะวันออกและตะวันตก นอกจากนี้ยังเกิดตามธรรมชาติในอีกหลายประเทศอย่างเช่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ไปจนถึงตอนเหนือของประเทศออสเตรเลีย ปาปัวนิกินี และประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิก ไม้สนทะเลถูกนำไปปลูกในประเทศต่าง ๆ นอกเขตการกระจายพันธุ์อย่างแพร่หลาย อย่างในประเทศจีน อินเดีย เวียดนาม และหลายประเทสในทวีปอัพฟริกา อเมริกากลาง และอเมริกาใต้ ไม้สนทะเล จัดเป็นไม้เบิกนำ ทนทานต่อสภาพดินเปรี้ยว หรือดินกรด และทนต่อสภาพแห้งแล้ง จัดเป็นพวก nitrogen-fixing tree ซึ่งมีระบบรากสามารถตรงไนโตรเจนจากอากาศได้ จึงมีการนำสนทะเลไปปลูกในพื้นที่ดินเลว เพื่อปรับปรุงสภาพดินให้ดีขึ้น แต่เดิมนั้นการปลูกไม้สนทะเลส่วนใหญ่จะปลูกในรูปของไม้ประดับและตัดตกแต่งให้เป็นรูปต่าง ๆ ต่อมากรมป่าไม้ได้ทำการปลูกสนทะเลเพื่อใช้ไม้สำหรับทำเสาโป๊ะเรือจับปลา และในประเทศจีนนิยมปลูกเป็นแนวกันลม ตามแนวชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกเฉียงใต้และด้านใต้รวมเป็นระยะทางกว่า 3,000 กิโลเมตร ในประเทศเวียดนามก็มีการปลูกสนทะเลเพื่อป้องกันลมไม่ให้พัดนำทรายทับถมบ้านเรือนชาวบ้านและพื้นที่การเกษตร
ลักษณะทั่วไปของต้นสนทะเล
ต้นสนทะเล
จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลักษณะของทรงพุ่มเป็นรูปกรวยแคบ ปลายแหลม มีความสูงของลำต้นประมาณ 10-20 เมตร แต่บางต้นอาจมีความสูงได้ถึง 50 เมตร ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางถึง 80 เซนติเมตร ลำต้นมีลักษณะเปลาตรง กิ่งชะลูดขึ้นไปทางปลายยอด มีกิ่งทำมุมป้านหรือตั้งฉากกับลำต้นและไม่เป็นระเบียบ ส่วนกิ่งย่อยเป็นสีเขียวเรียวเล็กมากคล้ายรูปเข็มต่อกันเป็นปล้อง ๆ เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลปนเทา เปลือกแตกเป็นร่องตื้น ๆ เป็นสะเก็ดเล็ก ๆ เปลือกด้านในเป็นสีน้ำตาลแดง กระพี้เป็นสีน้ำตาลอ่อน แยกจากแก่นอย่างเห็นได้ชัด ส่วนแก่นเป็นสีน้ำตาลแดง นิยมขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด เนื่องจากสะดวกและขยายพันธุ์ได้เป็นจำนวนมาก แต่สนทะเลก็สามารถขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำหรือตอนกิ่งได้ แต่ไม่เป็นที่นิยมนัก สนทะเลเป็นไม้กลางแจ้ง ที่เจริญเติบโตได้ในดินร่วนซุย มีความชื้นหรือเป็นดินร่วนปนทรายที่มีการระบายน้ำได้ดี โดยสามารถเจริญเติบโตได้ดีตั้งแต่ในพื้นดินที่มีระดับต่ำเท่ากับระดับน้ำทะเลไปจนถึงพื้นที่ที่มีความสูงถึง 1,500 เมตร จากระดับน้ำทะเล โดยมักพบขึ้นอยู่ตามชายฝั่งทะเลเป็นส่วนมาก
ใบสนทะเล
ใบเป็นใบประกอบ แบบลดรูปลง มีขนาดเล็กแหลม ลักษณะคล้ายฟันเลื่อยหรือซี่ฟันหรือเกล็ดเล็กละเอียด มีสีขาวแกมเขียว ติดอยู่รอบข้อของกิ่งย่อย ข้อหนึ่งมีใบย่อยประมาณ 6-9 ใบ แต่ส่วนใหญ่มักมี 7 ใบ เรียงกันเป็นช่อกลม ลักษณะคล้ายหนามแหลม รูปสามเหลี่ยมและส่วนของกิ่งย่อยสีเขียวเป็นเส้นแหลม ๆ คือ ส่วนที่ช่วยทำหน้าที่ในการปรุงอาหารเลี้ยงลำต้น
ดอกสนทะเล
ออกดอกเป็นช่อ ดอกเป็นแบบแยกเพศแต่อยู่บนต้นเดียวกัน ดอกมีขนาดเล็ก ช่อดอกเพศผู้เป็นช่อเชิงลดห้อยลง ดอกเพศผู้จะไม่มีก้านดอก จัดเรียงตัวเป็นรูปช่อยาวเรียว ๆ ออกตรงส่วนยอดของลำต้นหรือที่ปลายกิ่ง ยาวประมาณ 1-3 เซนติเมตร มีลักษณะเป็นรูปกระบองเรียว ๆ สีแดงยาวประมาณ 1-3 เซนติเมตร ใบประดับมีขนสีขาวหนาแน่น ใบประดับย่อยมีสองอัน ตรงปลายเป็นติ่งหนาม ส่วนช่อดอกเพศเมียจะอยู่ล่างช่อดอกเพศผู้ ลักษณะของดอกทั้งสองก็ต่างกัน ดอกเพศเมียเป็นสีน้ำตาลแดง ช่อดอกเพศเมียมีลักษณะเป็นลูกตุ้มเล็ก ๆ หรือมีลักษณะคล้ายโคน (cone) ทรงรูปไข่หรือรูปกระสวย มีขนาดกว้างประมาณ 1.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.7 เซนติเมตร ดอกจะออกตามกิ่งและง่ามกิ่ง และดอกทั้งสองเพศจะอยู่บนกิ่งใหญ่กิ่งเดียวกัน
ผลสนทะเล
ผลมีลักษณะเป็นลูกกลม ๆ ขนาดเล็ก เรียงชิดกันเป็นรูปกรวยหรือรูปรี มีขนาดกว้างประมาณ 0.4 นิ้ว และยาวประมาณ 0.5 นิ้ว เปลือกผลแข็ง แต่ละผลจะประกอบไปด้วยผลย่อยเรียงตัวแทรกอยู่ในผลใหญ่ ผลอ่อนจะเป็นสีเขียวนวล เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล และแตกออกตามรอยประสาน มองเห็นเมล็ดภายในมากมาย โดยเมล็ดจะมีลักษณะเป็นปีกบาง ๆ และมีจำนวนมาก
เมล็ดสนทะเล
เมล็ดจะมีลักษณะเป็นรูปกลมรี มีปีกหรือครีบบาง ๆ ที่ปลายเมล็ดยาวประมาณ 6-7 มิลลิเมตรติดอยู่ มีน้ำหนักเบาและมีขนาดเล็กมาก จึงสามารถพัดพาให้ลอยไปไกล ๆ ได้
สายพันธุ์
ต้นสนทะเลสามารถจำแนกเป็นสปีชีส์ย่อยได้ 2 ชนิด คือ
- Casuarina equisetifolia subsp. equisetifolia.
ต้นใหญ่ สูง 35 m (115 ft) กิ่งก้านมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5–0.7 mm (0.020–0.028 in) ไม่มีขน พบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลียเหนือ - Casuarina equisetifolia subsp. incana (Benth.) L.A.S.Johnson.
ต้นขนาดเล็ก สูง 12 m (39 ft) กิ่งก้านมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7–1 mm (0.028–0.039 in)มีขนเป็นปุย พบในออสเตรเลียตะวันออก วานูอาตู
การขยายพันธุ์
โดยทั่วไปการขยายพันธุ์สนทะเลจะใช้วิธีการขยายพันธุ์จากเมล็ด เนื่องจากเป็นวิธีการที่สะดวกและสามารถขยายพันธุ์ได้จำนวนมาก ๆ แต่อย่างไรก็ตาม สนทะเลสามารถขยายพันธุ์โดยการปักชำหรือตอนกิ่งได้แต่ไม่เป็นที่นิยมกัน การเก็บผลของสนทะเลที่เหมาะสมควรจะเก็บในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม และเดือนธันวาคม-มกราคม ซึ่งการออกผลแต่ละครั้งจะให้ผลดกมาก การเก็บผลควรเลือกเก็บผลที่แก่ โดยผลจะมีสีน้ำตาลเรื่อ ๆ ตรงส่วนปลายของผล และเมล็ดจะมีสีน้ำตาลแกมเหลือง ถ้าเป็นผลอ่อนสีผิวจะเป็นสีเขียว เมล็ดจะมีสีขาว ผลแก่จะให้เปอร์เซ็นต์การงอกดีกว่าผลอ่อน นำผลที่เก็บได้มาผึ่งในที่ร่มประมาณ3-5 วัน ผลจะแตกออก เมล็ดจะร่วงออกมา ผลของต้นสนทะเลจะผลิตเมล็ดจำนวนมาก เมล็ดมีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา โดยปกติเมล็ด 1 กิโลกรัมจะมีเมล็ดอยู่ประมาณ 700,000 เมล็ด
วิธีการปลูกต้นสนทะเล
- การเตรียมกล้า
การปลูกไม้สนทะเลส่วนใหญ่ใช้วิธีการเตรียมเมล็ดในแปลงเพาะโดยการเลือกพื้นที่วางแปลงเพาะบริเวณกลางแจ้งที่มีลักษณะเป็นดินทรายหรือดินร่วน มีการระบายน้ำดี ควรยกร่องทำเป็นแปลงเพาะ ความสูงประมาณ 10-20 ซม. กว้างประมาณ 1 เมตร สำหรับความยาวของแปลงขึ้นอยู่กับปริมาณกล้าที่ต้องการเพาะ โดยปกติเมล็ดสนทะเล 1 ลิตร สามารถเพาะกล้าได้ประมาณ30,000 กล้า หลังจากหว่านเมล็ดแล้วให้ใช้ดินหรือขี้เถ้า แกลบโรยทับบาง ๆ แล้วใช้ฟางแห้งหรือหญ้าคาคลุมบาง ๆ เพื่อป้องกันเมล็ดสนกระเด็นเวลารดน้ำและช่วยรักษาความชื้นในดิน ควรทำการฉีดยาฆ่าแมลงป้องกันมดและแมลงกินเมล็ด การรดน้ำควรรดวันละ 2 ครั้ง ตอนเข้าและตอนเย็น หลังจากเพาะประมาณ 3 วัน กล้าก็จะเริ่มงอกและงอกหมดภายใน 7 วัน เมื่อเมล็ดงอกควรระมัดระวังในเรื่องการให้น้ำ อย่ารดน้ำมากเกินไปจนมีน้ำขัง เพาะจะทำให้กล้าเกิดโรคเน่าคอดิน (damping off) เมื่อกล้าไม้มีขนาดความสูงประมาณ 30 ซม. ก็ย้ายกล้าไปปลูกเนื่องจากสนทะเลเป็นไม้ที่มีเมล็ดมาก ฉะนั้นจึงไม่สู้จะยุ่งยากในการเก็บหาเมล็ดและการเตรียมกล้าไม้
- การย้ายกล้าไปปลูก
ควรทำตอนต้นฤดูฝน ซึ่งเป็นระยะเวลาประมาณ 5-8 เดือน หลังจากการหว่านเมล็ดลงในแปลงเพาะเพื่อเตรียมกล้า สำหรับการปลูกในพื้นที่ที่แห้งแล้งควรจะมีการให้น้ำทันทีหลังจากการย้ายปลูก และจะต้องทำติดต่อกันไปในระยะ 3 ปีแรกของการปลูก ไม้สนทะเลเป็นต้นไม้ที่โตเร็ว สามารถขึ้นได้ดีในสภาพพื้นที่ทั่ว ๆ ไป แม้จะเป็นดินที่เสื่อมโทรมขาดความอุดมสมบูรณ์ หรือเป็นดินเปรี้ยว ดินเค็มหรือดินเป็นกรด แต่อย่างไรก็ตามดินที่เหมาะสมต่อการปลูกสนทะเล โดยปกติเป็นดินทรายบริเวณชายทะเล เนื่องจากมีความชื้นในดินสูง การระบายน้ำและอากาศดี
- การปลูกไม้สนทะเล
ช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อการปลูก คือ การปลูกในช่วงฤดูฝน และมีการเตรียมหลุมก่อนปลูก โดยการขุดหลุมให้มีขนาดโตกว่าถุงบรรจุกล้าไม้หรือใหญ่กว่ากล้าไม้มากก็ได้ พร้อมทั้งควรใส่ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยวิทยาศาสตร์รองก้นหลุมก่อนปลูก เมื่อนำกล้าไม้ไปปลูกต้องฉีกถุงที่บรรจุกล้าไม้เสียก่อน แล้ววางกล้าไม้ลงในหลุม และกลบดินให้เต็มหลุมและเหยียบดินให้แน่นพอประมาณ การกำหนดระยะปลูก (spacing) ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการใช้ประโยชน์จากไม้และมีความสำคัญเป็นอย่างมากในการวางแผนการลงทุนและบำรุงรักษา เช่น การปลูกเพื่อทำไม้ฟืน หรือเสาเข็มขนาดเล็กก็ควรปลูกในระยะถี่ คือ 2×2 เมตร (400 ต้น/ไร่) ซึ่งจะทำให้ต้นไม้เจริญเติบโตทางความสูงเร็วขึ้น และมีรูปทรงตรงเปลา หากต้องการปลุกพืชเกษตรควบหรือต้องการใช้เครื่องทุ่นแรงช่วยในการปลูกและการบำรุงรักษา ควรปลูกระยะ 2×4 หรือ 2×8 หรือ 4×4 เมตร
- การเจริญเติบโต
สนทะเลจัดว่าเป็นไม้โตเร็วชนิดหนึ่ง สามารถขึ้นได้ดีในสภาพพื้นดินทั่ว ๆ ไป โดยเฉพาะดินทรายบริเวณชายทะเลซึ่งมีความชื้นสูง และการระบายน้ำดี ระบายอากาศดี ในดินบริเวณที่สนทะเลเจริญเติบโตได้ดี พบว่ามีเห็ดราชนิดหนึ่ง ซึ่งปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่ช่วยให้สนทะเลเจริญเติบโตเร็วขึ้นคือ เห็ดปะการังสีดำ (Thelephora ramariaides Reid; Basidio mycotina Thelephoraceae) ซึ่งพบขึ้นอยู่ตามพื้นดินที่เป็นทราย มีการระบายน้ำดี น้ำไม่ขัง อยู่อาศัยร่วมกันแบบซิมไบโอซีส กับระบบรากแขนงหรือรากฝอยของไม้สนทะเล ทำให้ไม้สนทะเลสามารถเจริญเติบโตได้ดีบนพื้นที่เสื่อมโทรม เพราะมีเห็ดราชนิดนี้ช่วยในการดูดน้ำและแร่ธาตุให้แก่สนทะเลและยังป้องกันโรคที่เกิดขึ้นกับระบบรากของไม้สนทะเลอีกด้วย ดังนั้นหากนำสนทะเลไปปลูกนอกถิ่นเดิมของมันควรสร้างปมที่ราก (nudule) และสามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศเพื่อเป็นธาตุอาหารและช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดินได้เช่นเดียวกับพืชตระกูลถั่ว
ประโยชน์และสรรพคุณต้นสนทะเล
- เนื้อไม้สนทะเลเป็นสีแดงแกมสีน้ำตาลอ่อนถึงเข้ม เสี้ยนไม้ตรง เนื้อไม้หยาบปานกลาง เลื่อยผ่าตกแต่งได้ไม่ยาก มีความแข็ง ผึ่งยาก ใช้ในร่มได้ทนทานพอสมควร สามารถนำมาใช้ในงานก่อสร้างต่างๆ ได้ เช่น การทำเสาเข็ม เสาบ้าน เสาไฟฟ้า เสาโป๊ะ ทำเป็นโครงนั่งร้าน รวมไปถึงใช้ทำด้ามเครื่องมือต่าง ๆ ด้ามแจว แอก ล้อเกวียน เป็นต้น เนื้อไม้สามารถนำมาใช้ทำเป็นกระดาษได้โดยใช้ Neutral sulfite semi-chemical ไม้สนทะเลเป็นไม้ที่ติดไฟได้ดีและให้ความร้อนที่สูงมาก จนได้รับการขนานนามว่าเป็น “ไม้ฟืนที่ดีที่สุดในโลก” เพราะสามารถติดไฟได้อย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะไม้แห้งหรือไม้สด และยังสามารถนำไม้มาเผาทำเป็นถ่านได้เป็นอย่างดี โดยให้ค่าความร้อนสูงถึง 7,410 แคลอรีต่อกรัม อีกทั้งขี้เถ้าของสนทะเลยังช่วยเก็บความร้อนไว้ได้นานอีกด้วย
- ใบของสนทะเลยังถูกนำมาใช้ในการเดินเครื่องจักรของรถจักรไอน้ำของทางการรถไฟ (ในรัฐ karnataka) ของประเทศอินเดีย ถือว่าต้นสนทะเลเป็นไม้ที่สำคัญสำหรับใช้ในการปลูกเป็นสวนป่าเพื่อใช้ทำเชื้อเพลิง
- เปลือกของไม้สนทะเลจะมีน้ำฝาดและสีซึ่งมีแทนนิน (Tannin) อยู่ประมาณ 6-18% ซึ่งน้ำฝาดจากเปลือกสนทะเลสามารถนำมาใช้ในการฟอกหนัง โดยการซึมซาบเข้าไปในหนังที่ฟอกอย่างรวดเร็ว ทำให้หนังเกิดการพองตัวและมีลักษณะอ่อนนุ่ม ส่วนสีของหนังที่ฟอกได้จะเป็นสีน้ำตาลปนสีแดงอ่อน ๆ เปลือกไม้สามารถนำมาใช้ทำสีย้อมผ้าได้ เปลือกของต้นสนทะเลจะมีลักษณะขรุขระ จึงทำให้น้ำฝนไหลผ่านได้ช้า จึงสามารถช่วยดูดซับแร่ธาตุของน้ำฝนได้ดี จึงมีเห็ดมาอาศัยร่วมกับรากสนช่วยย่อยสลายซากพืชเพื่อต้นสนใช้เป็นปุ๋ย
- ต้นสนทะเลนิยมปลูกตามชายหาดทะเลเพื่อช่วยป้องกันการกัดเซาะของน้ำทะเล ต้นสนทะเลสามารถปลูกเป็นแนวกันลมหรือปลูกเป็นแนวรั้วบ้านได้ดี นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับเนื่องจากตัดและตกแต่งเป็นรูปทรงต่าง ๆ ได้อย่างสวยงาม หรือนำมาใช้ปลูกในพื้นที่ที่ดินเสื่อมโทรม เพื่อแก้ปัญหาในเรื่องการใช้ที่ดินเสื่อมโทรมให้เป็นประโยชน์ก็ได้
นอกจากประโยชน์ที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ต้นสนทะเลยังมีสรรพคุณทางด้านสมุนไพรอีกมากมาย
- แก่น แก่นของต้นสนทะเลมีสรรพคุณช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด วิธีการก็คือให้นำแก่นสนทะเลประมาณ 3-5 ชิ้น ใช้ต้มกับน้ำดื่มเช้าและเย็น แก้อาการอ่อนเพลีย เป็นยาแก้ไข้ ช่วยแก้อาการคลื่นเหียนอาเจียน
- เมล็ด เมล็ดสนทะเล นำมาบดหรือป่นให้ละเอียด ใช้เป็นยาแก้อาการปวดศีรษะ
- ใบ ใบนำมาต้มกินเป็นยาแก้อาการจุกเสียด แก้ปวดท้อง นำมาชงเป็นยาขับปัสสาวะ
- เปลือก เปลือกนำมาต้มกับน้ำ ใช้เป็นยาฝาดสมานเพื่อรักษาโรคท้องเดินเรื้อรัง แก้บิด แก้โรคท้องร่วง ปลือกถ้าใช้มากจะมีฤทธิ์ไปบีบมดลูก ทำให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ ใช้ต้มกับน้ำอาบแก้โรคเหน็บชา
- กิ่ง กิ่งแขนงนำมาชงกับน้ำรับประทานเป็นยาขับปัสสาวะ
- น้ำมัน น้ำมันมีสรรพคุณช่วยแก้อาการเคล็ดขัดยอก แก้อักเสบ