เกาลัดไทย พันธุ์ไม้ยืนต้นที่เราได้นำมาปลูกจากประเทศจีน แต่ไม่ได้อยู่วงศ์เดี่ยวกันกับเกาลัดญี่ปุ่น หรือเกาลัดยุโรป ทำให้มีคนเรียกกันอีกชื่อว่า “เกาลัดเทียม” หรือ “เกาลัดกำมะหยี่” แต่ทุกคนเชื่อไหมว่า ในประเทศไทยเรานิยมนำต้นเกาลัดมาปลูกเป็นไม้ประดับมากกว่ากิน เพราะถ้าเราอยากกินเกาลัด เราก็คงนั่งรถไปซื้อแถวเยาวราชกันมากกว่า
แต่อย่าพึ่งเข้าใจผิดว่า ในประเทศไทยจะไม่มีการปลูกเกาลัดไทยเพื่อเป็นผลผลิตทางการเกษตรกัน เพราะเกาลัดไทยนั้น นอกจากจะมีความสวยงามแล้ว ยังมีคุณค่าทางอาหารและยากัน แต่เนื่องจากเกาลัดนั้นเป็นพันธุ์ไม้ที่สามารถปลูกและให้ผลในภาคเหนือเป็นส่วนใหญ่ ทำให้คนอย่างเราๆก็ไม่ค่อยได้รู้จักรูปร่างหน้าตากันมานัก
ดังนั้นวันนี้ Kasettoday คันไม้คันมืออยากจะบอกเล่าข้อมูลดี ๆ ผ่านบทความนี้ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะต่าง ๆ ถิ่นกำเนิด การปลูกและดูแล สรรพคุณต่าง ๆ และยังไม่พอ ใครที่คิดจะปลูกเพื่อความสวยงามต้องไม่พลาด ใครอยากปลูกแล้วได้เห็นผลสีแดงสวย ๆ ก็อ่านไปพร้อม ๆ กันเลย
ข้อมูลทั่วไปของเกาลัดไทย
ชื่อภาษาไทย : เกาลัดไทย
ชื่ออื่น ๆ : เกาลัด, เกาลัดเทียม, เกาลัดเมือง และ บ่าเกาลัด
ชื่อภาาาอังกฤษ : Chestnut
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Sterculia monosperma Vent
ชื่อวงศ์ : STERCULIACEAE
เกาลัดไทยมาจากไหน
จากการค้นคว้าของเราโดยได้รับข้อมูลจาก ‘อุทยานการอาชีพชัยพัฒนา’ ได้บอกกล่าวว่าเป็นพรรณไม้ที่มีถิ่นเดิมอยู่ทางจีนตอนใต้ แถวบริเวณกวางตุ้ง กวางสี ยูนนาน ไต้หวัน ก่อนจะแพร่กระจายไปยังอินเดีย เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ญี่ปุ่น และไทย
ลักษณะของเกาลัดไทย
ลำต้น
ต้น จัดเป็นไม้ยืนต้นที่มีรูปทรงกระบอก มีความสูงราว 4-30 เมตร ลักษณะของลำต้นจะมีเปลือกเรียบหรืออาจจะแตกเป็นร่องเล็กๆ
ใบ
ใบ เป็นประเภทใบเดี่ยวที่ออกแบบเรียงสลับกันและมักจะจับเป็นกระจุกที่ส่วนปลายด้านบนของกิ่ง ลักษณะของใบจะมีความเรียบและเป็นรูปขอบขนานหรือรูปรี ขอบใบเป็นคลื่นเล็กๆ มีก้านใบยาว 2-10 เซนติเมตร ผิวใบหนาปนมัน แล้วความกว้างของใบประมาณ 5-15 เซนติเมตร ความยาว 10-30 เซนติเมตร
ดอก
ดอก จะออกตามปลายกิ่งเป็นช่อแบบแยกแขนงจำนวนมาก มีความยาวได้ถึง 35 เซนติเมตร ดอกมีลักษณะเป็นดอกย่อยขนาดเล็ก สีชมพูปนเขียว และมีกลีบเลี้ยงแบบโคนติดกัน ส่วนปลายจะผายคล้ายรูปกรวย แยกออกเป็น 5 แฉก แต่ละแฉกจะงุ้มติดกันที่ปลายกลีบ
ผล
ผล เป็นลักษณะรูปกระสวย เปลือกของผลมีความหนาเหมือนหนังและมีสีแดงสดบวกกับมีขนคล้ายกำมะหยี เมื่อผลแก่จะปริแยกออกจากกัน เมล็ดมีความเกลี้ยงเป็นสีน้ำตาลอมแดง เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร ยาวราวๆ 3 เซนติเมตร ข้างในเมล็ดเป็นสีขาวและสามารถรับประทานได้ แต่ละผลจะมีเมล็ดอยู่ 1-2 เมล็ด
รู้ไหมว่าเกาลัดไทยขยายพันธุ์ยังไง
ส่วนเรื่องการขยายพันธุ์ของ เกาลัดไทย นั้น สามารถทำได้ 2 วิธี ได้แก่ การเพาะเมล็ด และ การตอนกิ่ง ในที่นี้เราขอแนะนำวิธีที่ง่ายที่สุดซึ่งสามารถทำได้กันทุกคน นั่นก็คือ วิธีการเพาะเมล็ด โดยให้ใช้เมล็ดที่แก่จัดหรือเมล็ดที่ร่วงจากต้นใหม่ๆ นำไปลงเพาะทันที
เกร็ดความรู้ ! ทั้งนี้ต้นกล้าที่ได้จากการเพาะเมล็ดจะเติบโตเร็วมากในช่วง 1 ปีแรก เนื่องจากได้รับสารอาหารและจุลินทรีย์ที่มากับเมล็ด แต่เมื่ออาหารและจุลินทรีย์หมดไปต้นจะเริ่มโตช้า "การแก้ไขจากเหตุนี้ ทำได้ด้วยการใส่อินทรีย์วัตถุหมักข้ามปีกับเปลือกถั่วลิสงผสมกับดินและปุ๋ยคอก" จากนั้นให้หมักจนเปลือกถั่วลิสงเปื่อยยุ่ย แล้วจึงนำไปรองที่ก้นหลุมปลูก และให้ใส่เปลือกถั่วลิสงปีละหนึ่งครั้ง สำหรับระยะปลูกที่เหมาะสม ควรจะเป็นระยะ 6x6 เมตร หรือ 6x8 เมตร
ปลูกและดูแลเกาลัดไทยยังไงให้สวย
การปลูก
แสง
เป็นพืชที่มีความต้องการแสงแดดตลอดทั้งวัน เพื่อสร้างความเจริญเติบโต หากได้รับแสงแดดไม่เพียงพอ การเจริญเติบโตอาจจะช้าหรือไม่ดีเท่าที่ควร
น้ำ
สามารถรดน้ำได้ปกติ แต่ต้องไม่มีน้ำขัน เพราะเสี่ยงรากเน่า
ดิน
ดินที่ปลูก เกาลัดไทย จะต้องเป็นดินที่อุดมสมบูรณ์และมีการระบายน้ำที่ดี อีกทั้งพื้นที่หรือบริเวณที่ปลูกควรจะมีการถ่ายเทอากาศดี และจะต้องไม่มีน้ำท่วมขัง เกาลัดไทย ไม่สามารถเจริญเติบโตได้ในสภาพดินที่เป็นดินเหนียว แต่จะเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทราย
ปุ๋ย
การบำรุงดูแลควรจะใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยธรรมชาติ อย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้ง
ประโยชน์และสรรพคุณของเกาลัด
ในด้านคุณประโยชน์ก็จัดได้ว่า เกาลัดไทย เป็นต้นพืชที่มีประโยชน์ไม่น้อยเลย อย่างเช่น
1. ช่วยในการบำรุงตับและไต
2. ช่วยลดปริมาณไขมันในเส้นเลือด
3. ช่วยรักษาโรคบิดและรักษาอาการอาเจียน
4. สามารถนำผลสุกไปคั่วหรือต้ม แล้วรับประทานได้
5. สามารถนำเรซินหรือยางไม้ไปใช้ประโยชน์ในทางอุตสาหกรรมได้
6. ส่วนตัวไม้สามารถนำไปทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ได้
7. เมล็ดสามารถนำไปใช้เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ได้
8. เปลือกของผลสามารถนำไปต้มเพื่อใช้ย้อมผ้าได้
9. สามารถนำไปปลูกเพื่อเสริมความเป็นสิริมงคลและเป็นไม้ประดับให้ความสวยงามแก่บ้านได้
10. สามารถนำไปปลูกเพื่อเป็นไม้ที่ให้ร่มเงาได้
ไอเดียการปลูกเกาลัดไทย
แล้วเนื่องด้วยรูปทรงของต้น ลักษณะของดอก และสีของผล จึงทำให้พรรณไม้นี้ควรคู่แก่การนำไปประยุกต์ให้เข้ากับการจัดตกแต่งสวนหลากสไตล์
ไม่ว่าจะ สวนสไตล์ไทย สวนสไตล์อังกฤษ สวนสไตล์โมเดิร์น สวนสไตล์เมติเตอร์เรเนียน สวนสไตล์ยุโรป หรือสวนสไตล์ไหนๆ ที่ชื่นชอบก็สามารถจัดดัดแปลงให้เหมาะและกลมกลืนได้อย่างลงตัวแน่นอน นอกจากนี้ยังสามารถนำไปปลูกไว้ตามสวนสาธารณะ ริมคลอง ริมสระน้ำ หรือสถานที่ที่ต้องการใช้ร่มเงาต่างๆ เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ผู้คนทั่วไปอีกด้วย
เป็นอย่างไรกันบ้าง กับเกาลัดไทย ต้นไม้ยืนต้นขนาดกลางที่มีความสวยงาม เหมาะสมกับการนำมาปลูกประดับสวน และยังสามารถนำมารับประทานด้วย หากใครที่กำลังสนใจ อยากจะลองหัดปลูก เราก็อยากให้ทุกคนได้ลองปลูกกัน เพราะไม่แน่ว่าจากการปลูกเพราะความชอบ อาจจะกลายเป็นธุรกิจที่สร้างกำไรให้กับคุณ หรือรายได้เสริม และอย่างน้อยที่สุด มันก็สามารถเพิ่มความสวยงามให้กับสวนหลังบ้านของคุณแน่นอน
นอกจากนี้แล้วในเว็บของเรายังมีบทความเกี่ยวกับ สมุนไพร ผลไม้ ไม้ดอก หรือใครอยากหาความรู้เกี่ยวกับปุ๋ย ก็สามารถเข้ามาหาความรู้ได้เหมือนกัน
เกาลัดไทยทำอาหารได้ไหม
เกาลัดไทยถือว่าเป็นผลไม้ชนิดหนึ่งที่เราสามารถเอามาประกอบอาหารไทย ซึ่งในบทความนี้เราก็ขออ้างอิง รายงาน Foodwork เพื่อมาบอกเราการนำเกาลัดมาทำอาหารได้อย่างหลากหลาย ถ้าพร้อมแล้วไปดูกัน
แหล่งอ้างอิง -ฐานข้อมูลพืชพรรณไม้ภายในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของมูลนิธิชัยพัฒนา -ไร่ครูชื่น Kru Chuen Farm -ศูนย์การเรียนรู้และบริการวิชาการ เครือข่ายแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตำบลผาสิงห์ อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน