เชื้อราคอร์ทีเซียม หรือที่เกษตรกร ผู้เพาะปลูกพืชผักผลไม้รู้จักดีในชื่อ ราสีชมพู เป็นโรคพืชที่สร้างความเสียหายกับแปลงเพาะปลูกมหาศาล โดยเฉพาะทุเรียน และยางพาราที่มูลค่าทางการตลาดค่อนข้างสูง การทำให้พืชห่างไกลโรคราสีชมพูนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากเชื้อราชนิดนี้แพร่ระบาดรวดเร็ว อาศัยอยู่บนกิ่ง และง่ามกิ่งของพืชรอสภาพอากาศที่เหมาะสมในการเจริญเติบโต และเข้าทำลายพืชได้อย่างทันทีทันใด
ราสีชมพู คืออะไร
รา หรือ เชื้อรา เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งที่อยูในอาณาจักรรา (Fungi) ซึ่งประกอบด้วยรา เห็ด และยีสต์ โดยรามีลักษณะเป็นเส้นใยสีต่าง ๆ ได้แก่ เขียว แดง เหลือง ฟ้า ขาว มีหน้าที่ยึดติดกับอาหาร สืบพันธุ์ รวมไปถึงสร้างสปอร์ ราสีชมพู (Corticium salmonicolor) เป็นเชื้อราชนิดหนึ่ง ที่เป็นสาเหตุของโรคราสีชมพู (Pink Disease) ในพืชหลายชนิด ได้แก่ ทุเรียน ลำไย ยางพารา ทุเรียน ลองกอง เงาะ มะม่วง ส้ม พริกไทย ระยะแรก เชื้อราจะงอกเส้นใยสีขาวหนาทึบเป็นปื้นปกคลุมบริเวณกิ่ง ง่ามกิ่ง และลำต้น ดูดเอาน้ำลี้ยงและอาหารของพืชจากชั้นเปลือกไม้ เมื่อเจริญเติบโต และมีอายุมากขึ้นเส้นใยจะเปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีชมพู ยึดแน่นกับกิ่งไม้ กิ่งของพืชที่เป็นโรคจะเหี่ยว ใบเหลือง และร่วงเป็นหย่อม ๆ ต่อมากิ่งพืชก็จะแห้งตายในที่สุด

ลักษณะอาการของโรคราสีชมพู
โดยทั่วไปแล้วราสีชมพูจะเข้าทำลายบริเวณกิ่ง หรือลำตันที่อยู่ใต้ใบหนาทึบของพืช เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีความชื้นสูง แสงแดดส่องไม่ทั่วถึง เหมาะต่อการเจริญเติบโต และขยายพันธุ์ พืชอาหารของราสีชมพูมีหลายชนิดด้วยกัน ดังนี้
โรคราสีชมพูเงาะ
ต้นเงาะที่เป็นโรคราสีชมพู บริเวณกิ่ง และลำต้นมีเส้นใยสีขาวเจริญคลุมผิวรอบกิ่งหนาแน่น ยึดติดกับผิวพืชเห็นเป็นสีชมพู เมื่อถากดูเนื้อไม้ที่ถูกปกคลุมด้วยเชื้อรา ก็จะปรากฎอาการเนื้อไม้เน่าสีน้ำตาล ขณะที่ยอดของต้นเงาะที่เป็นโรคใบจะเหลือง แห้ง และร่วง หากระบาดหนักกิ่งอาจจะแห้งตายในที่สุด การแพร่ระบาดของเชื้อราสีชมพูในเงาะเกิดจากสปอร์ของเชื้อราที่กระเซ็นสู่ง่ามกิ่ง และร่องลำต้น สามารถเข้าทำลาย และลุกลามได้อย่างรวดเร็วในสภาพอากาศที่มีความชื้นสูง
โรคราสีชมพูทุเรียน
กลุ่มพยากรณ์ และเตือนการระบาดพืช ได้กล่าวไว้ว่า ต้นทุเรียนที่เป็นโรคราสีชมพูจะมีอาการใบเหลืองร่วงหล่นเป็นหย่อม ๆ คล้ายกับอาการกิ่งแห้ง ที่เกิดจากโรคโคนเน่า โดยเชื้อราสีชมพูจะเข้าทำลายง่ามกิ่ง และโคนกิ่งทุเรียน ด้วยการสร้างเส้นใยสีขาวอมชมพูปกคลุมผิวกิ่ง แล้วแผ่ขยายไปตามกิ่งและลำต้น อัญชลี พัดมีเทศ กล่าวไว้ในเอกสาร “โรคทุเรียน” กรมส่งเสริมการเกษตรว่า เมื่อใช้มีดถากเปลือกถากบริเวณที่ถูกทำลาย จะพบเนื้อเยื่อต้นทุเรียนเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ถ้าเกิดรอบกิ่งจะทำให้กิ่งทุเรียนแห้งตายในที่สุด และเมื่อราอายุมากขึ้น เส้นใยจะเปลี่ยนเป็นสีครีมไปจนถึงสีชมพูอ่อน ทำให้กิ่งทุเรียนปริแตก และล่อนจากเนื้อไม้ ส่วนยอดทุเรียนที่ถูกทำลายจะแสดงอาการใบเหลืองแห้งตายเป็นกิ่ง ๆ พบการแพร่ระบาดของราสีชมพูในทุเรียนในช่วงที่สภาพอากาศมีความชื้นสูง โดยเฉพาะหน้าฝน และมักจะเกิดกับต้นทุเรียนที่ขาดการดูแล ไม่มีการตัดแต่งกิ่งให้เหมาะสม กิ่งซ้อนกันหนาแน่น เกิดการสะสมความชื้น จึงเอื้อให้ราสีชมพูสามารถเข้าทำลายได้ง่ายยิ่งขึ้น ผลที่ตามมาคือกิ่งต้นทุเรียนแห้ง และใบเหลืองร่วงนั่นเอง

โรคราสีชมพูมังคุด
อาการของโรคเชื้อราสีชมพูในต้นมังคุด ระยะแรกจะเป็นอาการใบไหม้บริเวณปลายกิ่งมังคุด และมีเส้นใยสีขาวของราสีชมพูระยะแรกปกคลุมใต้ท้องกิ่งขยายเป็นวงกว้าง เมื่อสปอร์ของราสีชมพูเจริญเติบโตมาขึ้นก็จะกลายเป็นสีชมพู ยึดเกาะผิวพืชแน่น ระยะนี้เชื้อราจะเข้าไปในเปลือก และลุกลามเข้าไปในท่ออาหาร และน้ำเลี้ยงของมังคุด ทำใหกิ่งของมังคุดบริเวณที่เป็นโรคเหี่ยวแห้ง และตายลงในที่สุด การแพร่ระบาดของโรคราสีชมพูในต้นมังคุดมักจะเกิดในช่วงหน้าฝนที่สภาพอากาศต่ำ ความชื้นสูง แต่เมื่อสภาพอากาศไม่เอื้อต่อการเจริญพันธุ์ก็จะพักตัว แล้วค่อยกลับมาแพร่ระบาดใหม่อีกครั้ง ไม่ต่างกับการเข้าทำลายพืชชนิดอื่นเลย
โรคราสีชมพูพริกไทย
ส่วนมากแล้วโรคราสีชมพูจะเกิดบริเวณส่วนบนของโคนกิ่งที่เจริญแยกออกไปของต้นพริกไทย เนื่องจากฤดูฝน น้ำฝนจะไหลชะพาสปอร์ของเชื้อราสีชมพูไปติดรวมกันเป็นจำนวนมากบริเวณโคนกิ่ง เมื่อสปอร์ของเชื้อราได้รับความชื้นจะงอกออกมาเป็นเส้นใยเข้าทำลายเนื้อเยื่อของต้น และกิ่งพริกไทย อาการที่เห็นค่อนข้างชัดคือ เส้นใยสีชมพูของเชื้อราที่แผ่ขยายคลุมกิ่ง และลำต้น ซึ่งระยะแรกจะเห็นเป็นกลุ่มเล็ก ๆ กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป เมื่อเชื้อราเจริญเติบโตมากขึ้นก็จะขยายเชื่อมติดต่อกันเป็นผืนใหญ่ คล้ายกับผิวของพืชที่ถูกทาด้วยสีชมพู ขณะที่บริเวณผิวขรุขระของพืชจะกลายเป็นที่สะสมสปอร์ และเป็นโรคได้ง่ายขึ้น ซึ่งส่วนผิวของต้นพริกไทยที่เป็นโรคเปลือกของพืชจะแตกออก ผุ เปื่อย ยุ่ย หรือเป็นขุย ถ้าเนื้อเยื่อภายในถูกทำลายมากอาจทำให้กิ่งแห้งตายทั้งกิ่ง ผลที่ตามมาคือพริกไทยชะงักการเจริญเติบโต และผลผลิตลดลงอย่างเห็นได้ชัด
โรคราสีชมพูมะม่วง
ต้นมะม่วงที่ถูกราสีชมพูเข้าทำลายจะมีอาการใบเหลือง และเมื่อมองไปที่กิ่งของต้นก็จะเห็นเชื้อราสีขาวอมชมพู ลักษณะเป็นผงขึ้นอยู่บนกิ่ง เชื้อราจะเข้าทำลายเนื้อเยื่อเปลือกไม้ ทำให้ระบบการลำเลียงน้ำ และอาหารของพืชผิดปกติ ถ้าหากเชื้อราเจริญรอบกิ่งไม้ อาจทำให้กิ่งแห้งตายได้ในที่สุด มักจะพบการแพร่ระบาดของราศีชมพูในสวนมะม่วงแถบอากาศชุ่มชื่น และสวนมะม่วงที่ไม่ค่อยได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง

โรคราสีชมพูส้ม
ราสีชมพูส้ม จัดเป็นหนึ่งในโรคส้มหลายชนิด เช่น ส้มเม็กซิกันไลม์ ส้มเขียวหวาน ส้มโอ และพันธุ์ส้มจากต่างประเทศ เนื่องจากในแปลงส้มมีความชื้นค่อนข้างสูง สวนส้มบางแบ่งไม่มีการดูแล ปล่อยให้ทรงพุ่มรกทึบ อากาศถ่ายเทไม่สะดวก วัชพืชขึ้นปกคลุมหนาแน่น ยิ่งเป็นเร่งการแพร่ระบาดของราสีชมพู โดยราสีชมพูจะอาศัย และทำลายส่วนเปลือกของกิ่งหรือลำต้นส้ม ทำให้กิ่งแห้งตายเป็นสีน้ำตาล ระยะแรกกิ่งที่เป็นโรคใบจะเหลือง เหี่ยว และร่วงง่าย ดูคล้ายกับอาการของโรคยางไหล หรือการเจาะทำลายกิ่งของแมลง แต่ถ้าสังเกตดี ๆ จะพบว่ากิ่งที่เป็นโรคนั้นไม่มีอาการยางไหลหรือมูลของแมลแต่อย่างใด กลับเห็นเป็นเชื้อราสีชมพูบนเปลือกตรงส่วนที่เป็นแผลแห้งคล้ายกับรอยป้ายปูนแดง เมื่อลองเฉือนเปลือกไม้ดู จะพบว่าเนื้อไม้เป็นสีน้ำตาลดำ ส่วนด้านในของเปลือกมีอาการเป็นจุดฉ่ำน้ำจุดเล็ก ๆ หรือลุกลามเป็นแผลใหญ่ บางครั้งเชื้อราอาจลุกลามจากกิ่งหนึ่งไปยังอีกกิ่งหนึ่ง หรือต้นอื่น ๆ ทำให้กิ่งตายหลายต้นพร้อม ๆ กัน
โรคราสีชมพูลำไย
โรคราสีชมพูมักจะแพร่ระบาดในต้นลำไยที่มีทรงพุ่มหน้าทึบ ลำไยที่มีกิ่งก้านมาก หรือมีอาการเผือใบ กิ่งใบ ระหว่างต้น แถวประสานกันแน่น อาการของโรคราสีชมบูในลำไยจะเกิดที่กิ่ง โดยเฉพาะบริเวรง่ามกิ่ง หรือลำต้น กิ่งลำไยที่เป็นโรคจะมีสีเหลืองซีด และใบเหลืองเหลือแต่กิ่ง อีกทั้งยังมีคราบเชื้อราสีขาวปนชมพูแผ่ขยายปกคลุม เห็นชัดได้อย่างชัดเจนเมื่อกิ่งแห้ง และหากได้ผ่ากิ่งลำไยที่เป็นโรคดูก็จะพบว่าเปลือกไม้ผุ และเนื้อไม้ยุ่ย กิ่งแห้งตายในสุด เนื่องจากใต้ผิวแผ่นเชื้อราที่แนบติดกับผิวของกิ่งเข้าดูดกินน้ำเลี้ยง และทำลายเนื้อเยื่อบริเวณดังกล่าวนั่นเอง
โรคราสีชมพูลองกอง
โรคราสีชมพูในลองกอง เกิดจากเชื้อรา Corticium salmonicolor Berk & Br. เข้าไปจับที่กิ่ง และลำต้นลองกอง เกิดเป็นจุดสีขาว ๆ และเจริญเติบโตเป็นเส้นใยปกคลุมบาง และค่อย ๆ หนาขึ้น ส่งผลให้เปลือกไม้ที่หุ้มลำต้น กิ่ง เปื่อยยุ่ยเป็นสีน้ำตาลอ่อน เมื่อถูกทำลายรุนแรงเส้นใยจะเปลี่ยนเป็นสีชมพู อาการต้นลองกองที่ถูกโรคราสีชมพูเข้าทําลายสามารถเห็นได้ชัดจาก “ใบ” ที่เริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ใบแห้ง และร่วงหล่น เปลือกไม้เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล กิ่งหรือลำต้นจะแห้งตายไปในที่สุด และถ้าหากเชื้อราสีชมพูเข้าทําลายบนกิ่ง ที่มีหนอนกินใต้ผิวเปลือกลองกอง จะทำให้กิ่งแห้งตายอย่างรวดเร็ว การแพร่ระบาดของโรคราสีชมพูในลองกองมักเกิดในช่วงฤดูฝน โดยเฉพาะต้นลองกองที่มีทรงพุ่มแน่นทึบ หรือมีการทําลายของหนอนกินใต้ผิวเปลือกลองกอง

โรคราสีชมพูในยางพารา
โรคราสีชมพูยางพารา เชื้อรามักจะเข้าทำลายต้นยางที่มีอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป หรือเมื่อต้นยางเริ่มสร้างพุ่ม ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรอารักขาพืช จังหวัดชลบุรี ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า เริ่มแรกบริเวณคาคบ กิ่ง ลำต้น จะปริแตก และมีน้ำยางไหลอยู่ตามเปลือกของต้นยาง เมื่ออากาศชื้นจะเห็นเส้นใยสีขาวที่ผิวเปลือกยาง ขยายใหญ่เป็นวงกว้าง เมื่อเวลาผ่านไปเชื้อราจะเจริญเติบโต และเปลี่ยนเป็นสีชมพู ระยะนี้เชื้อราเข้าทำลายเข้าไปในเปลือก และลำต้น ทำให้เปลือกแตก กะเทาะออกมา น้ำยางก็จะไหลออกมาจับตามกิ่ง และลำต้นเป็นทางยาว เมื่อน้ำยางแห้ง ราดำก็เข้าจับเป็นทางสีดำยาว ส่วนใต้บริเวณแผลที่ถูกทำลาย จะมีการแตกกิ่งขึ้นมาใหม่ ส่วนใบของต้นยางจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง และเกิดอาการตายจากยอด เอกสารการวินิจฉัยศัตรูพืช เล่มที่ 2 (ยางพารา) กรมส่งเสริมการเกษตร ได้กล่าวไว้ว่า เชื้อราสีชมพูระบาดหนักในแปลงยางพาราอ่อน และต้นยางพาราเปิดกรีดแล้วในช่วงเดือนมิถุนายน ถึงเดือนธันวาคม รวมไปถึงระบาดในช่วงสภาพอากาศชุ่มชื้น มีปริมาณน้ำฝนสูง และเมื่ออากาศแห้ง หรือสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม เชื้อราก็จะพักตัว สีชมพูที่ปรากฏจะซีดจางจนเป็นสีขาว และจะกลับมาเจริญลุกลามอีกครั้งในฤดูฝนปีถัดไป

สาเหตุของการเกิดโรคราสีชมพู
จากอาการของพืชที่ถูกโรคราสีชมพูเข้าทำลาย ไม่ว่าจะเป็นในทุเรียน ลำไย มังคุด ยางพารา หรือว่าลองกอง ล้วนบอกให้ทราบได้ว่าสาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้พืชถูกราสีชมพูเข้าทำลายนั่นคือ “ความชื้น” โดยเฉพาะบริเวณพุ่มกิ่ง ที่มีใบความหนาแน่น อากาศ และแสงแดดถ่ายเทไม่สะดวก ราสีชมพูที่อยู่บริเวณต่าง ๆ ของลำต้นจึงเกิดการเจริญเติบโตได้อย่างเต็มที่ จนทำให้พืชผลทางการเกษตรเสียหายในที่สุด จึงสามารถแบ่งสาเหตุของการเกิดโรคราสีชมพูได้ ดังนี้
- สภาพแปลงปลูกที่ขาดการดูแลเอาใส่ การปล่อยให้ทรงพุ่มรกทึบ วัชพืชขึ้นปกคลุมหนาแน่นเกินไป
- สภาพอากาศที่มีความชื้นสูง ฝนตกชุก ที่เหมาะต่อการเจริญเติบโตของเชื้อราสีชมพู
- การฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อราน้อยครั้งเกินไป หรือไม่มีการฉีดพ่นเลย
การแพร่ระบาด
เชื้อราสีชมพูเป็นราชนิดที่เจริญเติบโตได้ดีในสภาพภูมิอากาศเย็น และความชื้นสูง โดยเฉพาะในหน้าฝน ที่มีความชื้นมากกว่าปกติ จึงทำให้โรคราสีชมพูระบาดอย่างหนักในหน้านี้ นอกจากนี้แล้วราสีชมพูยังสามารถสร้างสปอร์แพร่กระจายไปกับลม ฝน ดิน และส่วนกิ่งของลำต้นพืชได้ง่ายดาย อีกทั้งแมลงยังเป็นพาหะแพร่ระบาดไปสู่ต้นอื่นอีกด้วย จึงทำให้การแพร่ระบาดของโรคราสีชมพูเป็นไปได้อย่างรวดเร็วนั่นเอง
การป้องกันกำจัด
การป้องกัน และกำจัดโรคราสีชมพูในพืช สามารถทำได้หลากหลายวิธี เริ่มตั้งแต่วิธีเขตกรรม การเผาทำลาย ตัดทิ้ง ไปจนถึงการพึ่งพาสารเคมี ได้แก่ วิธีดังต่อไปนี้
- ตัดแต่งกิ่งไม้ให้โปร่ง โล่ง อยู่เสมอ เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก แสงแดดส่องถึง เพื่อลดความชื้นในทรงพุ่มไม้ และลดการสะสมเชื้อราสีชมพู
- ปลูกพืชต้านทานโรค เช่น ปลูกยางพันธุ์ต้านทาน ได้แก่ RRIT251 BPM 24 PB 260 PR 255 และ RRIC 110
- ไม่ควรปลูกพืชอาศัยของเชื้อราสีชมพูร่วมกัน เช่น ปลูกยางพาราติดกับสวนทุเรียน หรือลองกอง เพราะจะเป็นการเพิ่มความรุนแรงในการแพร่ระบาด
- การใช้ศัตรูธรรมชาติ เช่น เชื้อราไตรโคเดอร์ ตามสูตรดังต่อไปนี้
- เชื้อราไตรโคเดอร์ 1 กิโลกรัม ผสมกับรำข้าว 4 กิโลกรัม และปุ๋ยคอก100 กิโลกรัม ให้เข้ากัน แล้วนำไปหว่านบริเวณทรงพุ่มรอบทรงต้นที่มีรากฝอยอยู่ ในอัตรา 50-100 กรัม/ตารางกิโลเมตร
- เชื้อรา 1 กิโลกรัม ผสมน้ำ 200 ลิตร ราดหรือฉีดพ่นบริเวณทรงพุ่มรอบทรงต้น
- ขูดผิวเปลือกบริเวณที่เป็นโรคออกไปทำลายทิ้ง แล้วผสมไตรโคเดอร์ม่ากับปูนแดง เติมน้ำเล็กน้อยเขย่าให้เข้ากัน แล้วทาบริเวณที่เป็นแผลที่ขูดเปลือกออก
- ในช่วงฤดูฝนหมั่นสำรวจแปลงอยู่เป็นประจำ หากพบอาการใบเหลือง หรือกิ่งเป็นโรค ให้ตัดกิ่งออกไปทำลายนอกแปลง หรือเฉือนเปลือกบริเวณที่เป็นโรคออก และทาบริเวรแผลที่ตัดด้วยคอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ (copper oxychloride) 85% WP ผสมน้ำข้นๆ ตามด้วยใช้สารประกอบทองแดง เช่น คอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ อัตรา 80 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ผสมสารจับใบหรือสารเพิ่มประสิทธิภาพ นำไปฉีดเคลือบบริเวณลําต้น กิ่ง และใบบางส่วนเพื่อเป็นการป้องกันการระบาด
- หากมีการระบาดอย่างรุนแรง ให้ใช้สารบลูโนลินัมเฟลนตาเรียม ในอัตราสารเคมี 1 ส่วนต่อน้ำ 9 ส่วน ผสมปูนแดงทาบริเวณที่เกิดเชื้อราจะได้ผลดีมาก หรือจะใช้วิธีการตัดและเผาทำลาย แล้วพ่นด้วยสารเคมีป้องกันเชื้อรา ดังนี้
- สารคอปเปอร์ ออกซีคลอไรด์ 85% ดับบลิวพี อัตรา 50 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ
- สารคาร์เบนดาซิม 60 % ดับบลิวพี อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
- กรณีที่ต้นยางพาราที่ยังไม่เปิดกรีดเป็นโรคราสีชมพู แนะนำให้ใช้สารเคมีบอร์โดมิกซ์เจอร์ (Bordeaux mixture) ที่มีอัตราส่วนผสมจุนสีหนัก 120 กรัม ปูนขาวหนัก 240 กรัม (ถ้าเป็นปูนเผาใหม่ใช้ประมาณ 150 กรัม) ผสมน้ำ 10 ลิตร ทาบริเวณที่เป็นโรค และไม่แนะนำให้ใช้กับต้นยางพาราที่เปิดกรีดแล้ว เนื่องจากสารทองแดง ซึ่งเป็นส่วนผสมของบอร์โดมิกซ์เจอร์จะไหลลงไปผสมกับน้ำยางที่กรีด ทำให้น้ำยางประสิทธิภาพลดลง
- การใช้สารเคมี “อินเนอร์” เป็นสารป้องกันกำจัดโรคพืชประเภทดูดซึม ใช้ในการป้องกัน และรักษาโรคราสีชมพู ข้อดีของสารชนิดนี้คืออกฤทธิ์ดูซึมเข้าเนื้อพืชได้เร็ว แล้วเคลื่อนย้ายไปตามระบบท่อน้ำของต้นพืช ออกฤทธิ์นาน เห็นผลได้ชัด ส่วนมากจะนิยมใช้ฉีดพ่นทุเรียนที่เริ่มแตกใบอ่อน และช่วงฝนตกชุก ในอัตรา 20 ซีซี/ น้ำ 20 ลิตร
- พ่นสารเคมี เช่น คาร์เบนดาซิม 50% WP /50%SC อัตรา 200-300 กรัม/ซีซี ต่อน้ำ 200 ลิตร หรือ แมนโคเซบ 80% WP อัตรา 500 กรัมต่อน้ำ 200 ลิตร หรือ คอปเปอร์ ไฮดรอกไซด์ 77% WP อัตรา 200-300 กรัมต่อน้ำ 200 ลิตร หรือ คอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ 85% WP อัตรา 300-400 กรัมต่อน้ำ 200 ลิตร หรือ แมนโคเซบ 60% + วาลิฟีนาเลท 6% WG (เอสโตเคด) อัตรา 300-500 กรัมผสมน้ำ 200 ลิตร หรือ อะซอกซีสโตรบิน 25% SC อัตรา 100-200 ซีซีต่อน้ำ 200 ลิตร ทุก ๆ 5-7 วัน จนกว่าโรคจะหยุดระบาด
- “ลำยอง ครีบผา” กล่าวไว้ว่าในแหล่งปลูกที่พบการระบาดของโรคราสีชมพูเป็นประจํา ควรปรับสภาพแปลงปลูกให้เหมาะต่อการระบาด ควบคู่กับการใช้สารเคมีอาจมีความจําเป็นเพื่อใช้ป้องกันการระบาดของเชื้อรา เช่น เบโนมิล คาร์เบนดาซิม โปรคลอราส แมนโคเซบ และคอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ เป็นต้น

แหล่งที่มา
กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. การวินิจฉัยศัตรูพืช เล่มที่ 2 (ยางพารา). 2561. กรุงเทพฯ.
ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรอารักขาพืช จังหวัดชลบุรี. โรคราสีชมพูยางพารา. 2560.