ปลาสลิด หรือปลาใบไม้ กับการเพาะเลี้ยงทั้งในบ่อและแปลงนา

ปลาสลิดหรือปลาใบไม้ เป็นปลาน้ำจืด และเป็นปลาพื้นบ้านของประเทศไทยมีมาอย่างยาวนาน ส่วนใหญ่นิยมเลี้ยงกันมากในภาคกลาง โดยเฉพาะในจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักว่ามีรสชาติดี เนื้ออร่อย หรือที่เรียกกันว่า ปลาสลิดบางบ่อ โดยปลาสลิดได้ถูกนำไปเลี้ยงอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นเลี้ยงเพื่อรับประทานภายในครอบครัว หรือการเพาะเลี้ยงเพื่อจำหน่าย เนื่องจากการเลี้ยงปลาสลิดใช้ต้นทุนค่อนข้างต่ำ และสามารถเลี้ยงในนาข้าว พร้อมกับการทำนาข้าวไปด้วย จึงทำให้เกษตรกรหันมาสนใจเลี้ยงกันมากขึ้น และปลาสลิดเองตลาดก็มีความต้องการสูง เป็นสินค้าส่งออกอีกอย่างหนึ่งของประเทศไทย เนื่องจากสามารถนำมาประกอบอาหารได้หลายอย่างทั้งในรูปสดและทำเค็ม ตากแห้ง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ตากแห้ง เป็นที่นิยมทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งสามารถเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรเป็นอย่างมาก

ลักษณะทั่วไปของปลาสลิด

คุณยุพินท์ วิวัฒนชัยเศรษฐ์ กองส่งเสริมการประมง กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เรียบเรียงข้อมูลไว้ว่า ปลาสลิดหรือปลาใบไม้ เป็นปลาน้ำจืด ซึ่งเป็นปลาพื้นบ้านของประเทศไทย มีแหล่งกำเนิดอยู่ในลุ่มภาคกลาง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Trichogaster pecteralis และนิยมเลี้ยงกันมากบริเวณภาคกลาง ส่วนที่พบในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย อินเดีย ปากีสถาน ศรีลังกา และฟิลิปปินส์ เป็นพันธุ์ปลาที่ส่งไปจากเมืองไทยเมื่อประมาณ 80-90 ปีที่ผ่านมา และเรียกว่าสยาม หรือเซียม สำหรับแหล่งปลาสลิดที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักว่ามีรสชาติดี เนื้ออร่อย คือ ปลาสลิดบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ แต่ปัจจุบันโรงงานอุตสาหกรรมได้ขยายตัวอย่างแพร่หลาย ทำให้น้ำธรรมชาติที่จะระบายลงสู่บ่อเลี้ยงปลาสลิดมีคุณสมบัติไม่เหมาะสม ส่วนพื้นที่ดินพรุทางภาคใต้ในเขตจังหวัดนราธิวาสซึ่งเป็นดินเปรี้ยวก็สามารถใช้เป็นที่เลี้ยงปลาสลิดได้ เพราะปลาสลิดเป็นปลาท่เลี้ยงง่าย อดทนต่อความเป็นกรด และน้ำที่มีปริมาณออกซิเจนน้อยได้ดี มีห่วงโซ่อาหารสั้น คือ กินแพลงก์ตอนเป็นอาหารต้นทุนการผลิตต่ำ โดยจะเลี้ยงอยู่ในนาคนเลี้ยงปลาสลิดเรียกกว่า ชาวนาปลาสลิด และบ่อเลี้ยงปลาสลิดเรียกกว่า แปลงนาปลาสลิดหรือล้อมปลาสลิด กรมประมงจึงได้ส่งเสริมให้เลี้ยงปลาสลิดในพื้นที่จังหวัดอื่น เช่น จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อเพิ่มผลผลิตให้มีปริมาณเพียงพอต่อการบริโภค และส่งเป็นสินค้าออกในรุปผลิตภัณฑ์ปลาสลิดเค็มตากแห้ง

ลักษณะปลาสลิด
palangkaset.tumblr.com

ลักษณะนิสัยของปลาสลิด

ปลาสลิดชอบอยู่ในบริเวณที่มีน้ำนิ่ง เช่น หนอง บึง ตามบริเวณที่มีพันธุ์ไม้น้ำ เช่น ผักและสาหร่าย เพื่อใช้เป็นที่พักอาศัยกำบังตัว และก่อหวอดวางไข่ เนื่องจากปลาชนิดนี้โตเร็วในแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีอาหารพวกพืช ได้แก่ สาหร่าย พืชและสัตว์เล็ก ๆ จึงสามารถนำปลาสลิดมาเลี้ยงในบ่อและนาข้าวได้เป็นอย่างดี

รูปร่างลักษณะ

ปลาสลิดมีรูปร่างคล้ายปลากระดี่หม้อ แต่ขนาดโตกว่า ลำตัวแบนข้างมีครีบ ท้องยาวครีบเดียว สีของลำตัวมีสีเขียวออกเทา หรือมีสีคล้ำเป็นพื้นและมีริ้วดำพาดขวางตามลำตัวจากหัวถึงโคนหาง เกล็ดบนเส้นข้างตัวประมาณ 42-47 เกล็ด ปากเล็กยืดหดได้ ปลาสลิดซึ่งมีขนาดใหญ่เต็มที่จะมีความยาวประมาณ 20 เซนติเมตร

การสืบพันธุ์

ลักษณะเพศ ปลาสลิดตัวผู้และตัวเมียมีความแตกต่างกัน ซึ่งสามารถสังเกตความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด คือ ปลาตัวผู้มีลำตัวยาวเรียว สันหลัง และส่วนตัวเมียมีสันท้องยาวมนไข่ขนานกับสันท้อง และครีบหลังมนไม่ยาวจนถึงโคนหางสีตัวจางกว่าตัวผู้ ในฤดูวางไข่ท้องจะอูมเป่งออกมาทั้งสองข้าง อัตราการปล่อยพ่อแม่พันธุ์ปลาสลิด 1:1 เป็นปลาขนาดกลาง น้ำหนัก 10-12 ตัวต่อกิโลกรัมดีที่สุด

โรค

ปลาสลิดไม่ค่อยจะเป็นโรคร้ายแรง หากน้ำในบ่อเสียจะสังเกตเห็นปลาขึ้นมาหายใจบนผิวน้ำ เพราะออกซิเจนที่ละลายน้ำไม่เพียงพอ วิธีแก้ไขคือ ต้องถ่ายน้ำเก่าออกและระบายน้ำใหม่เข้าหรือย้ายปลาไปไว้ในบ่ออื่น โดยเฉพาะมักจะเกิดเห็บปลา ซึ่งมีลักษณะตัวแบน สีน้ำตาลใสเกาะติดตามตัวปลามาดูดเลือดของปลากินความเจริญเติบโตของปลาชะงักลง ทำให้ปลาผอม การกำจัดโดยระบายน้ำสะอาดเข้าไปในบ่อให้มาก ๆ ตัวเห็บก็จะหายไปได้

ปลาสลิด คือ
fishsilaqrcode.blogspot.com

รูปแบบการเลี้ยงและการเพาะพันธุ์ปลาสลิด

ในปัจจุบันการเลี้ยงปลาสลิด สามารถแบ่งออกเป็นลักษณะใหญ่ ๆ ได้ 2 ลักษณะได้แก่

1.การเลี้ยงปลาสลิดโดยเพาะพันธุ์ปลาในบ่อเลี้ยง

ซึ่งสามารถดำเนินการได้ 2 วิธีคือ

  • การเพาะพันธุ์โดยวิธีธรรมชาติ โดยการปล่อยพ่อแม่พันธุ์ผสมกันเองตามธรรมชาติ ในอัตรา 50-100 กก./ไร่ โดยไม่คำนึงถึงอัตราส่วนพ่อแม่พันธุ์ โดยใช้พ่อแม่พันธุ์ 8-10 ตัว/กก. ซึ่งจำนวนการวางไข่ของปลาจะไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางธรรมชาติเป็นหลัก และปลายังมีการวางไข่หลายครั้งทำให้ได้ลูกปลาหลายรุ่น
  • การเพาะพันธุ์โดยวิธีฉีดฮอร์โมน โดยปล่อยพ่อแม่พันธุ์ขนาด 8-10 ตัว/กก. ที่ได้รับการฉีดฮอร์โมนสังเคราะห์ร่วมกับยาเสริมฤทธิ์ ในอัตรา 5-10 กก./ไร่ โดยมีอัตราส่วนพ่อแม่พันธุ์ประมาณ 1:1 ซึ่งปลาจะวางไข่ในระยะใกล้เคียงกัน ซึ่งทั้งวิธีที่ 1.1 และ 1.2 อาจปล่อยปลาในบ่อเลี้ยง (แปลงนา) ขนาดใหญ่เลยหรือปล่อยลงบ่อขนาดเล็กก่อน เมื่อลูกปลาเกิดและเห็นตัวแล้วจึงปล่อยออกไปสู่บ่อใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ในการเพาะพันธุ์ปลาลักษณะดังกล่าวไม่สามารถคาดคะเนอัตราการรอดตายของลูกปลา และจำนวนลูกปลาที่ได้ ขึ้นอยู่กับอาหารธรรมชาติ คุณสมบัติของน้ำ และศัตรูของลูกปลา

2.การเลี้ยงโดยการปล่อยลูกปลาในแปลงนา

การเลี้ยงปลาสลิดโดยการปล่อยลูกปลาสลิดขนาด 2-3 ซม. ในอัตรา 10,000 ตัว/ไร่ โดยลูกปลาที่นำมาปล่อยได้จากการเพาะพันธุ์โดยวิธีการฉีดฮอร์โมนสังเคราะห์ร่วมกับยาเสริมฤทธิ์ และอนุบาลในบ่อดินจนได้ขนาดที่ต้องการ โดยลูกปลาที่นำมาปล่อยอาจจะปล่อยในบ่อเลี้ยง (แปลงนา) เลยหรืออนุบาลต่อในบ่อขนาดเล็กก่อนแล้วจึงค่อยปล่อยออกบ่อใหญ่ นอกจากนี้เกษตรที่เลี้ยงปลาสลิดหลายครั้งแล้วยังมีการปล่อยปลาขนาดเล็กประมาณ 15-20 ตัว/กก. ที่ไม่ได้จำหน่ายมาปล่อยเสริม ซึ่งการปล่อยเสริมแบบนี้สำหรับวิธีการเพาะ 1.1 และ 1.2 ไม่ควรปล่อยในช่วงที่ทำการเพาะพันธุ์ เนื่องจากปลาที่ปล่อยจะกินลูกปลาที่เกิดใหม่ได้

พันธุ์ปลาสลิด
www.findglocal.com

การเพาะพันธุ์ปลาสลิด

ปลาสลิด สามารถผสมพันธุ์และวางไข่ได้เมื่อมีอายุ 7 เดือน ขนาดโตเต็มที่โดยเฉลี่ยจะมีขนาดตัวยาวประมาณ 6-7 นิ้ว หนัก 130-400 กรัม ปลาสลิดจะเริ่มวางไข่ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนสิงหาคม หรือในฤดูฝน แม่ปลาตัวหนึ่ง จะสามารถวางไข่ได้หลายคั้ง แต่ละครั้งจะได้ปริมาณไข่ประมาณ 4,000-10,000 ฟอง ในฤดูวางไข่ท้องแม่ปลาจะอูมเป่งออกมาทั้งสองข้าง ลักษณะของไข่ปลาสลิดมีสีเหลือง ทั้งนี้ควรจัดที่ให้ปลาสลิดวางไข่ภายในเดือนมีนาคม โดยหลังจากที่ได้กำจัดศัตรูระบายน้ำเข้าและปล่อยพันธุ์ปลาลงบ่อแล้ว ควรปลูกผักบุ้งรอบบริเวณชานบ่อ น้ำลึกประมาณ 20-30 เซนติเมตร ปลาสลิดจะเข้าไปก่อหวอดวางไข่ และลูกปลาวัยอ่อนจะสามารถเลี้ยงตัวหลบหลีกศัตรูตามบริเวณชานบ่อนี้ได้

การเพาะพันธุ์ปลาสลิดแบบธรรมชาติ

การจัดการบ่อเพาะพันธุ์

การจัดการบ่อเพาะพันธุ์ปลาสลิดเพื่อให้ลูกปลามีอัตรารอดสูง มี 3 วิธีคือ

  • ระบายน้ำเข้าบ่อผ่านตะแกรงที่มีช่องตาขนาด 1 มิลลิกรัม จนท่วมชานบ่อโดยรอบให้มีระดับสูง 20-30 เซนติเมตร ปลาจะเข้าก่อหวอดวางไข่มากขึ้นอาณาเขตบ่อก็จะกว้างหวางกว่าเดิม เป็นการเพิ่มที่วางไข่ และที่เลี้ยงลูกปลามากขึ้น
  • สาดปุ๋ยมูล โคและมูลกระบือแห้งบนบริเวณชานบ่อที่ไขน้ำท่วมขึ้นมาใหม่ ตามอัตราการใส่ปุ๋ยจะทำให้เกิดไรน้ำและผักบนชานบ่อเจริญงอกงามขึ้นอีกด้วย
  • ปล่อยให้ผักขึ้นรกในบริเวณชานบ่อ ผักเหล่านี้ปลาสลิดจะใช้ก่อหวอดวางไข่ และเป็นกำบังหลบหลีกศัตรูของลูกปลาในวันอ่อนจนกว่าจะแข็งแรงเอาตัวรอดได้

การวางไข่

ก่อนปลาสลิดจะวางไข่ ปลาตัวผู้จะเป็นฝ่ายเตรียมการเลือกสถานที่ และก่อหวอดซึ่งเป็นฟองน้ำละลายไว้ในระหว่างต้นผักบุ้งโปร่งไม่หนาทึบเกินไป เช่นเดียวกับปลากัดปลากริมและปลากระดี่ ปกติปลาสลิดตัวเมียจะชอบวางไข่ในที่ร่มมากกว่ากลางแจ้ง เมื่อเตรียมหวอดเสร็จแลว ปากกจะเริ่มผสมพันธุ์กันโดยตัวผู้จะเริ่มไล่ต้อนตัวเมียเข้าใต้บริเวณหวอด และรัดท้องตัวเมียให้ไข่ออกแล้วปล่อยน้ำเชื้อเข้าผสมกับไข่ จากนั้นปลาตัวผู้จะอมไข่เข้าใต้หวอด ไข่จะลอยติดอยู่ที่หวอด นอกจากการเพาะพันธุ์ปลาสลิดในบ่อแล้ว ยังเพาะในภาชนะได้อีกวิธีหนึ่ง คือใช้ถังทรงกลมปากกว้าง 1.50 เมตร ยาว 3 เมตร ลึก 60 เซนติเมตร น้ำลึกประมาณ 40 เซนติเมตร วางไว้กลางแจ้งโดยทำเป็นเพิงคลุมถังประมาณ 2 ใน 4 ของถัง เพื่อกำบังแดดใช้ผักบุ้งลอยไว้ 3 ใน 4 ของถัง แล้วปล่อยแม่ปลาที่กำลังมีไข่แก่ 10 ตัว ตัวผู้ 10 ตัว หลังจากปล่อยพ่อแม่พันธุ์ปลาเพียง 4-6 วัน ปลาสลิดจะเริ่มก่อหวอดวางไข่ ไข่ปลาจะฟักเป็นตัวและเติบโตเช่นกับกับการเพาะฟักในบ่อดิน จากนั้นให้ช้อนพ่อแม่ปลาออกแล้วเลี้ยงลูกปลาไปก่อน โดยให้ไข่ผงหรือไรน้ำเป็นอาหาร 2 สัปดาห์ จึงให้รำผงละเอียดจนกว่าลูกปลาจะมีขนาดยาว 2 เซนติเมตร เพื่อปล่อยลงบ่อเลี้ยงต่อไป หรือจะนำหวอดไข่จากบ่อเพาะเลี้ยงมาฟักในถังทรงกลม ก็จะช่วยให้ลูกปลาสลิดมีชีวิตรอดเป็นจำนวนมากกว่าที่จะปล่อยให้เจริญเติบโตในบ่อเพาะเลี้ยงเอง เพราะในบ่อมีศัตรูปลาสลิดอยู่ เช่น แมลงในน้ำ กบ งู ปลากินเนื้อ ซึ่งจะคอยทำลายไข่และลูกปลา อัตราลูกปลาจะรอดน้อยกว่าการนำพ่อแม่พันธุ์มาเพาะในภาชนะ

การฟักไข่

ไข่ปลาสลิดจะเริ่มฟักเป็นตัวภายในเวลา 24 ชั่วโมง และทยอยฟักเป็นตัวภายในเวลา 48 ชั่วโมง ไข่ที่ไม่ได้รับการผสมจะเป็นราสีขาว ไม่ออกเป็นตัว ลูกปลาที่ออกจากไข่ใหม่ ๆ จะมีถุงอาหารติดอยู่ที่ท้อง และยังไม่กินอาหารโดยจะไม่กินประมาณ 7 วัน เมื่อถุงอาหารยุบหมดลูกปลาจึงเริ่มกินอาหาร ซึ่งจะสังเกตเห็นลูกปลาขึ้นเหนือน้ำในตอนเช้าตรู่ ลักษณะคล้ายฝนตกลงน้ำหยิม ๆ

เพาะพันธุ์ปลาสลิดแบบธรรมชาติ

การเพาะพันธุ์ปลาสลิดโดยใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์ร่วมกับยาเสริมฤทธิ์

อุปกรณ์

  1. น้ำยาฮอร์โมนสังเคราะห์ (ชูพรีแฟค) Suprefact
  2. ยาเสริมฤทธิ์ (โมทีเลียม เอ็ม ) Motilium m.
  3. น้ำสะอาด
  4. หลอดฉีดยาขนาด 1-10 ซีซี
  5. เข็มฉีดยาเบอร์ 24 ยาว 1 นิ้ว
  6. ครกบดยา

จำนวนเข็มที่ฉีด

เพศผู้ : จำนวน 1 เข็ม
เพศเมีย : จำนวน 1-2 เข็ม
ในกรณีที่เพศเมียฉีดสารละลายจำนวน 2 เข็ม (เว้นระยะเวลาระหว่างเข็ม 12 ชม.) จะฉีดปลาเพศผู้พร้อมเพศเมียเข็มที่ 1

ตัวอย่าง

ทำการฉีดปลาสลิดขนาด 10 ตัว/กก. จำนวน 10 กก. เป็นปลาเพศผู้ จำนวน 5 กก. เพศเมีย 5 กก. ดังนี้

  • เพศผู้ฉีดสารละลายจำนวน 1 เข็ม โดยมีความเข้มขึ้นของฮอร์โมนสังเคราะห์ 10 ไมโครกรัม/กก. และยาเสริมฤทธิ์ 5 มิลลิกรัม/กก.
  • เพศเมียฉีดสารละลายจำนวน 2 เข็ม เข็มที่ 1 มีความเข้มข้นของฮอร์โมนสังเคราะห์ 10 ไมโครกรัม/กก. และยาเสริมฤทธิ์ 10 มิลลิกรัม/กก. เข็มที่ 2 มีความเข้มข้นของฮอร์โมนสังเคราะห์ 20 ไมโครกรัม/กก. และยาเสริมฤทธิ์ 10 มิลลิกรัม/กก.
เพาะพันธุ์ปลาสลิดด้วยการฉีดฮอร์โมน

การจัดการบ่อเพาะเลี้ยงหรือแปลงนา

ขนาดของแปลงนาหรือบ่อปลาสลิด

ถ้าเลี้ยงปลาสลิดเป็นอาชีพเสริมเนื้อที่ 1 ไร่ แต่ถ้าเป็นอาชีพหลักควรมีเนื้อที่ตั้งแต่ 10 ไร่ขึ้นไป ในกรณีแปลงนาขนาดเล็กก็สามารถใช้แรงคนได้ โดยปักหลักและขึงเชือกเป็นแนวเขตคันดินและแนวเขตของคู (แนวเขตคันดิน คือฐานของดิน ซึ่งอย่างน้อยต้องกว้างเท่ากับคูและควรห่างแนวเขตคู 1 ศอก ถากหน้าดิน หญ้า และกิ่งไม้ที่เป็นคันออกให้หมด) ต่อจากนั้นใช้พลั่วขุดแทงลงดินแล้วดึงขึ้น แทงลงอีกข้างหนึ่งแล้วงัดขึ้นดินจะติดพลั่วขึ้นมา โยนดินไปไว้ในแนวเขตที่จะเป็นคันดิน ซึ่งจะพูนสูงขึ้นเรื่อย ๆ และได้คูลึกตามที่ต้องการ ถ้าขุดล้อมนา 1 ไร่จะเป็นความยาวคู 284 เมตร ( 7 เส้น 2 วา) คูกว้าง 1 วา ลึกครึ่งขา  ( 75 เซนติเมตร) จะเป็นดินที่ขุดขึ้นมา 336 นิ้ว (ลูกบาศก์เมตร) ทั้งนี้ต้องระมัดระวังคืออย่าพยายามขุดให้ลึกกว่าครึ่งขาและอย่าเปิดหน้าดินให้มากนัก เพราะถ้า (ดินเปรี้ยว) เปิดหน้าดินมากและลึก น้ำจะเปรี้ยวมากและเปรี้ยวนานพร้อมกับทำทางน้ำออกด้วย

การเตรียมบ่อเลี้ยงหรือแปลงนา

บ่อเลี้ยงปลาสลิดหรือแปลงนาปลาสลิด จะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีคูล้อมทุกด้านหรืออย่างน้อย 2 ด้าน คูต้องกว้างอย่างน้อย 1 วา และลึกอย่างน้อยครึ่งขา (75 เซนติเมตร) ความสูงของคันต้องกั้นน้ำท่วมได้ และฐานต้องกว้างกว่าหรือเท่ากับความกว้างของคู ควรมีชานบ่อกว้างอย่างน้อย 1 เมตร สำหรับให้ปลาวางไข่บ่อขนาดเล็กที่สุด มีความกว้าง 10 เมตร ยาว 20 เมตร ลึก 1.50 เมตร ถ้าติดอยู่กับแม่น้ำลำคลองซึ่งมีทางระบายถ่ายเทน้ำได้สะดวกนับว่าเป็นทำเลดี โดยมีวิธีการเตรียมบ่อดังนี้

  • การใส่ปูนขาว บ่อที่ขุดใหม่โดยทั่วไปแล้วดินมักจะมีสภาพเป็นกรด ควรใช้ปูนขาวโรยให้ทั่วบ่อ 1 กิโลกรัม ต่อเนื้อที่ 10 ตารางเมตร เพื่อแก้ความเป็นกรดของดินให้เจือจางลง น้ำก็จะเปลี่ยนแปลงสภาพไปจากธรรมชาติ คือ รักษาความเป็นกลางหรือเป็นด่างเล็กน้อยไว้ได้ ซึ่งเป็นน้ำที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะใช้เลี้ยงปลา คือ มีพีเอชอยู่ระหว่าง 6-7 การตรวจสอบน้ำจะชิมหรือตรวจด้วยกระดาษลิตมัส
  • การกำจัดสิ่งรก ถ้าเป็นบ่อเก่าที่ไม่ควรใช้เลี้ยงปลา ควรกำจัดวัชพืชต่าง ๆ ที่รกรุงรังในบ่อปลาให้หมด หากบ่อตื้นเขินไม่เหมาะแก่การเลี้ยงปลาควรสูบน้ำออกลอกเลนและตกแต่งพื้นบ่อให้มั่นคงแข็งแรง แล้วตากบ่อให้แห้งประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อให้แสงแดดช่วยฆ่าและกำฝลจัดเชื้อโรคต่าง ๆ

สำหรับบ่อเก่าที่ไม่จำเป็นจะต้องลอกเลน หลังจากได้กำจัดสิ่งรกต่าง ๆ ในบ่อหมดสิ้นแล้วถ้ามีน้ำอย่างพอเพียงก็สามารถใช้เลี้ยงปลาได้แก่ก่อนจะปล่อยพันธุ์ปลาลงเลี้ยง ควรใช้โล่ติ๊นฆ่าศัตรูต่าง ๆ ของปลาในบ่อให้หมดสิ้นเสียก่อน โดยใช้โล่ติ๊นสดหนัก 1 กิโลกรัมต่อน้ำ 100 ลูกบาศก์เมตร ทุบโล่ติ๊นให้ละเอียดแช่น้ำไว้ โล่ติ๊นสดหนัก 3 กิโลกรัม ใช้น้ำประมาณ 2 ปีบ ขยำเอาน้ำสีขาวออกหลาย ๆ ครั้งจนหมดแล้วนำไปสาดให้ทั่ว ๆ บ่อปลาต่าง ๆ ที่เป็นศัตรูจะเริ่มตายหลังจากที่ใส่โล่ติ๊นลงไปประมาณ 30 นาที จากนั้นจะตายต่อไปจนหมดบ่อที่ใส่โล่ติ๊นแล้วปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 7-8 วัน เพื่อให้พิษของโล่ติ๊นสลายตัวหมดเสียก่อน จึงนำพันธุ์ปลาสลิดปล่อยลงเลี้ยงต่อไป

การเตรียมเพาะตะไคร่น้ำ

เนื่องจากตะไคร่น้ำเป็นอาหารจำเป็นสำหรับลูกปลาสลิดขนาดใหญ่ ดังนั้นในขณะที่กำลังตากบ่ออยู่ เพื่อไม่ให้เสียเวลาควรเตรียมการเพาะอาหารธรรมชาติสำหรับปลาไปด้วย โดยวิธีการเพาะอาหารธรรมชาติโดยใช้ปุ๋ยคอกโรยให้ทั่วบ่อ อัตราส่วนปุ๋ยคอก 100 กิโลกรัม ต่อเนื้อที่ 1 ไร่ แล้วระบายน้ำเข้าบ่อให้มีระดับสูงจากพื้นบ่อ 10-20 เซนติเมตร ปล่อยไว้ 7-10 วัน จะเกิดตะไคร่น้ำหรือที่เรียก่าขี้แดด จากนั้นจึงค่อยระบายน้ำเข้าตามระดับที่ต้องการ ถ้าเป็นบ่อใหม่ภายหลังที่ใส่ปุ๋ยและปล่อยน้ำเข้าแล้ว ควรนำเชื้อตะไคร่น้ำที่หาได้จากน้ำที่มีสีเขียวจัดโดยทั่วไปมาใส่ลงในบ่อ เพื่อเร่งให้เกิดตะไคร่น้ำเร็วยิ่งขึ้น

การปลูกพรรณไม้น้ำในบ่อปลา

เนื่องจากตะไคร่น้ำเป็นอาหารจำเป็นสำหรับลูกปลาสลิดขนาดใหญ่ ดังนั้นในขณะที่กำลังตากบ่ออยู่เพื่อไม่ให้เสียเวลา ควรจะเตรียมการเพาะอาหารธรรมชาติสำหรับปลาไปด้วย บ่อปลาสลิดควรปลูกพันธุ์ไม้น้ำ เช่น ผักบุ้ง แพงพวย และผักกระเฉด เพื่อให้เหมาะสมกับนิสัยและความเป็นอยู่ของปลาสลิด กล่าวคือ พันธุ์ไม้น้ำแหล่งนี้นอกจากจะเป็นประโยชน์แก่ปลา โดยใช้เป็นอาหารและร่มเงาแล้วยังเป็นที่สำหรับปลาได้วางไข่ในฤดูฝน (ระหว่างเดือนเมษายน-สิงหาคม) ปลาจะหาทำเลที่วางไข่ตามที่ตื้นและมีพันธุ์ไม้น้ำ เพื่อก่อหวอดวางไข่กิ่งใบและก้านจะเป็นสิ่งสำคัญในการยึดเหนี่ยวไม่ให้หลุดแตกกระจัดกระจายไป และเมื่อไข่ปลาฟักออกเป็นตัวแล้วก็จะเป็นที่ให้ลูกปลาได้อาศัยเลี้ยงตัวกำบังร่มเงาและหลบหลีกศัตรูได้เป็นอย่างดี สำหรับการปลูกพันธุ์ไม้น้ำดังกล่าว ควรปลูกตามบริเวณชานบ่อที่มีน้ำตื้น ๆ ซึ่งเหมาะสมที่จะเป็นที่อยู่อาศัยและเป็นที่วางไข่ของปลาสลิดมากกว่าผักที่ขึ้นอยู่กลางบ่อ

การใส่ปุ๋ย

บ่อปลาบางแห่งปุ๋ยธรรมชาติในดินไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดจุลินทรย์ ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีชีวิตเล็กๆ ในน้ำที่ลูกปลาใช้เป็นอาหารจำเป็นต้องใส่ปุ๋ยคอก ได้แก่ มูลโค มูลกระบือที่ตากแห้งแล้ว โรยปุ๋ยตามริมบ่อในอัตรา 10 กิโลกรัมต่อเนื้อที่ 160 ตารางเมตร โดยปกติควรใส่ปุ๋ยคอก 2-3 เดือนต่อครั้ง การที่จะให้บ่อปลามีอาหารธรรมชาติอยู่เสมอนั้นให้ทำปุ๋ยหมักไปกองไว้บริเวณริมบ่อด้านใดด้านหนึ่ง (ปุ๋ยหมักนี้จะใช้หญ้าสดที่ดายทิ้ง กองอัดให้แน่นแล้วใส่ปุ๋ยคอกผสมลงไปด้านใดด้านหนึ่ง ) โดยการใส่ปุ๋ยคอกผสมลงไปด้วยเพื่อให้หญ้าสดสลายตัวเร็วขึ้นจะช่วยเร่งให้เกิดจุลินทรย์และไรน้ำต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นอาหารของปลาสลิดต่อไป สำหรับการใส่ปุ๋ยต้องระวัง อย่าใส่มากเกินกว่าที่กำหนดไว้ เพราะอาจจะเกิดน้ำเขียวจัดหรือน้ำเสีย ถ้าเป็นช่วงที่ฟ้าครึ้มไม่มีแดดติดกันหลายวันหรือมีการฟันหญ้าเพิ่มด้วย ทั้งนี้ให้หมั่นตรวจดูสีน้ำซึ่งมีวิธีทดสอบง่าย ๆ คือถ้าใช้มือกำแล้วหย่อนลงไปในน้ำระดับข้อศอก แล้วมองไม่เห็นกำมือควรรีบเติมน้ำเข้าหรือสูบน้ำในบ่อพ่นไปในอากาศ หากลูกปลายังมีขนาดเล็กต้องป้องกันไม่ให้ลูกปลาเข้าปลายท่อสูบน้ำ ซึ่งเป็นการเพิ่มอากาศบริสุทธิ์ในน้ำ

การปล่อยปลาสลิดลงเลี้ยง

เวลาที่เหมาะสมสำหรับการปล่อยปลาก็คือ เวลาเช้าตรู่หรือเวลาเย็น เพราะเวลาดังกล่าวน้ำในบ่อไม่ร้อนจัด ปลาที่ปล่อยลงไปจะปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมได้และไม่ตายง่าย อัตราส่วนของปลาที่ปล่อยลงเลี้ยงประมาณ 5-10 ตัว ต่อเนื้อที่ผิวน้ำ 1 ตารางเมตรเป็นอย่างมาก

การปล่อยปลาสลิดลงเลี้ยง
วิถีชีวิตเกษตรพอเพียง.com

การเลี้ยงปลาสลิดในนาข้าว

อ.ธนสรณ์ รักดนตรี ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า ปลาสลิดเป็นปลาที่มีความเหมาะสมที่จะนำไปเลี้ยงในนาข้าวได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นปลาที่มีนิสัยรักสงบ ชอบลอยตัวอยู่นิ่ง ๆ และกินตะไคร่น้ำเป็นอาหาร ต่างจากปลากินพืชชนิดอื่นที่อาจจะขุดดินทำให้ต้นข้าวหลุดลอย หรือตอดกินต้นข้าวทำความเสียหายได้ โดยการเลี้ยงปลาสลิดในนาข้าวต้องเลือกแปลงนาที่สามารถเก็บกักน้ำได้ประมาณ 4-6 เดือน และต้องมีน้ำขังอย่างน้อยประมาณ 30 เซนติเมตรตลอดฤดูทำนา ทำคันนาให้สูงกว่าเดิม 50 เซนติเมตรแล้วขุดคูรอบคันนากว้างประมาณ 80 เซนติเมตร เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของปลา แปลงนาควรมีบ่อรวมปลาอยู่ที่มุมใดมุมหนึ่งโดยขุดบ่อขนาดกว้าง 3-5 เมตร ยาว 6 เมตร ลึก 1.5 เมตร เพื่อใช้สำหรับพักลูกพันธุ์ปลาก่อนปล่อยเลี้ยง และใช้สำหรับเป็นบ่อรวมปลาตอนเก็บผลผลิต การปล่อยปลาจะทำเมื่อไถคราดและดำนาไปแล้ว 10 วัน โดยปล่อยลูกพันธุ์ปลาขนาด 5-7 เซนติเมตร อัตราการปล่อย 500 ตัว/ไร่

เลี้ยงปลาสลิดในนาข้าว
www.farmky.com

การให้อาหาร

อาหารที่ปลาสลิดชอลกินคือ ตะไคร่น้ำ รำละเอียด หรือปลายข้าวต้มปนกับผักบุ้งที่หั่นแล้ว แหนสดและปลวกอาหารของลูกปลาวัยอ่อนซึ่งมีอายุ 7-12 วัน ให้ตะไคร่น้ำและไรน้ำเป็นอาหาร เมื่อลูกปลามีอายุครบ 21 วัน- 1 เดือน ให้รำข้าวละเอียดต้มปนกับผักบุ้งที่หั่นละเอียด แหนสด และปลวกบ้าง (ผัก 1 ส่วน รำ 2 ส่วน) ทั้งนี้ต้มผักให้เปื่อยเสียก่อนแล้วจึงเอารำลงไปเคล้าปั้นเป็นก้อน ให้กินเพียงวันละ 2 ครั้ง ในเวลาเช้าระหว่าง 7.00-8.00 น. และเย็นประมาณ 3-5% โดยใส่อาหารบนแป้น ซึ่งอยู่ในระดับน้ำ 1 คืบ อย่าให้อาหารเหลือข้ามวัน จะทำให้น้ำเน่าเสียได้ ควรดีดน้ำให้เป็นสัญญาณปลาจะได้เคยชินและเชื่องด้วย

การเพิ่มอาหารธรรมชาติโดยการใส่ปุ๋ย ได้แก่ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยขี้วัว ปุ๋ยขี้ไก่ ฯลฯ ต้องใส่ปุ๋ยก่อนปล่อยปลาอย่างน้อย 3 วันในอัตรา 2 ปีต่อไร่ต่อ 7 วัน โดยตัดหญ้าบนแปลงในระดับยอดหญ้าที่โผล่พ้นน้ำ แล้วทิ้งกระจายไว้บนแปลงนาตัดเพียงครึ่งหนึ่งของแปลง ครบ 15 วัน ตัดอีกครึ่งหนึ่ง สลับไปมาและรักษาระดับน้ำให้ท่วมหญ้าบนนาประมาณครึ่งเข่าตลอดเวลา หลังจากใส่ปุ๋ยคอก 4-5 ครั้งแล้วตัดหญ้าเพียงอย่างเดียว แต่ถ้าน้ำในแปลงมีสีใสมาก ให้ใส่ปุ๋ยคอกต่อปลาขนาด 5 เซนติเมตร ใช้เวลาเพียง 7-8 เดือน ถ้าปลาขนาด 10 เซนติเมตร ใช้เวลาเลี้ยง 5-6 เดือน ส่วนการเลี้ยงลูกปลาจากพ่อแม่ปลาจะใช้เวลา 10-11 เดือนจึงจับขายได้

การจับปลาสลิด

อาคม ชุ่มธิ ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า การจับปลาสลิดจะต้องมีการเตรียมอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้แก่ ระหัดวิดน้ำพร้อมอุปกรณ์ แผงไม้สำหรับจับและคัดปลา กระชังสำหรับขังปลา ลังใส่ปลา สวิงตาห่าง รถไถพร้อมอุปกรณ์ และเครื่องช็อตปลา ท่อสูบน้ำพร้อมอุปกรณ์ การจับปลาสลิดจะทำการสูบน้ำออกจากบ่อเลี้ยงช้า ๆ ด้วยระหัดหรือท่อสูบน้ำ เพื่อให้ปลาสลิดและปลาอื่น ๆ ลงมารวมกันอยู่ในร่อง จากนั้นจะสูบน้ำพร้อมวิดปลาขึ้นด้วยระหัดผ่านแผงไม้ แล้วทำการคัดขนาดปลาปล่อยลงในกระชังที่เตรียมไว้ จนกระทั่งน้ำในร่องเกือบหมด จึงใช้รถไถลากลูกทุ่นที่วางขวางร่อง เพื่อจะช่วยดันปลามาบริเวณก้นระหัด ส่วนปลาช่อน ปลาหมอไทย ปลาดุกอุย จะใช้วิธีการช็อต แล้วคัดขนาดใส่ไว้ในลังปลาที่เตรียมไว้

การลำเลียง

  1. ก่อนการลำเลียงควรพักปลาไว้ในที่กว้าง เช่น พักในถังขนาดใหญ่และไม่ต้องให้อาหาร
  2. ใช้ภาชนะปากกว้าง เช่น ปี๊ปหรือถัง บรรจุน้ำ 3 ใน 4 ส่วนของภาชนะ บรรจุปลาขนาดใหญ่ในอัตราปี๊บละ 40 ตัว หรือขนาดกลาง 80 ตัว ถ้าเป็นลูกปลาขนาดเล็กก็เพิ่มจำนวนได้มากขึ้นตามความเหมาะสม
  3. ลอยผักบุ้งในภาชนะที่ใช้ลำเลียง และควรมีฝาที่มีช่องตาโปร่ง หรือตาข่ายคลุมภาชนะไม่ให้ปลากระโดดออก
  4. ระหว่างเดินทางพยายามเปลี่ยนน้ำทุก 12 ชั่วโมง โดยระวังอย่าให้ปลาบอบช้ำ
  5. ให้ภาชนะที่บรรจุปลาอยู่ในที่ร่มและเย็นเสมอ
  6. ภาชนะลำเลียงปลาควรตั้งให้สนิทอย่าโคลงเคลง เพราะอาจทำให้ปลาเมาน้ำได้
  7. เมื่อถึงปลายทางต้องรีบย้ายปลาไปอยู่ในภาชนะที่กว้างใหญ่และถ่ายน้ำใหม่ หรืออาจปล่อยลงบ่อเลี้ยงเลยก็ได้
การลำเลียงปลาสลิด
Facebook, พูนทรัพย์ค้าถัง ถังพลาสติกมือสอง ราคาถูก

การป้องกันและกำจัดศัตรู

ศัตรูของปลาสลิด มีปลายประเภท ดังนี้

  • สัตว์ดูดนม เช่น นาก
  • นกกินปลา เช่น นกกระเต็น นกยาง นกกาน้ำ และเหยี่ยว
  • สัตว์เลี้อยคลาน เช่น งู เต่า ตะพาบน้ำ ฯลฯ
  • กบ เขียด
  • ปลากินเนื้อ เช่น ปลาช่อน ปลาชะโด ปลาไหล จะกินปลาสลิดขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ ส่วนปลากริม ปลากัด ปลาหัวตะกั่ว ปลาหมอ มวนวน แมงดาสวน จะกินไข่ปลาสลิดและลูกปลาในวัยอ่อน

ตามธรรมชาติของปลาสลิดย่อมรู้จักหลบหลีกศัตรูได้ดี แต่เมื่อนำมาเลี้ยงในบ่อปลาสลิดก็ยากที่จบหลบหลีกศัตรูได้ จึงจำเป็นต้องช่วยโดยการป้องกันและกำจัด

การป้องกันและกำจัดพวกสัตว์ดูดนม สัตว์เลี้อยคลาน โดยทำรั้วล้อมรอบก็เป็นการป้องกันได้ดี ส่วนสัตว์จำนวกนกต้องทำเพิงคลุมแป้นอาหาร เพื่อป้องกันนกโฉบปลาในขณะที่ปลากินอาหารอยู่เป็นกลุ่ม สำหรับปลากินเนื้อชนิดต่าง ๆ นั้น ต้องระวังผักที่จะเก็บลงมาปลูกในบ่อ เพราะอาจจะมีไข่ปลาติดมาด้วย โดยเฉพาะท่อระบายน้ำเข้าต้องพยายามใช้ลวดตาข่ายที่มีช่องตาขนาดเล็ก กรองน้ำที่จะผ่านลงในบ่อ และหมั่นตรวจตะแกรงถ้าชะรุดควรรีบเปลี่ยนใหม่ การล้อมรอบคันบ่อใช้ตาข่ายในล่อนให้สูงจากพื้นอย่างน้อย 50 เซนติเมตร ส่วนล่างของตาข่ายให้ฝังดินลึกประมาณ 10 เซนติเมตร ถ้าเป็นที่ลุ่มควรต่อตาข่ายไนลอน 2 ผืน หรือเสริมเฝือกสูงประมาณ 2 เมตร พร้อมทั้งหมั่นตรวจสอบหากชำรุดต้องมีการซ่อมแซม

แนวโน้มการตลาดในอนาคต

ปลาสลิดมีแนวโน้มด้านการตลาดในอนาคตที่น่าสนใจมาก เพราะปลาสลิดเป็นผลผลิตที่มีความต้องการสูง สามารถนำมาประกอบอาหารทั้งในรูปสด และทำเค็ม ตากแห้ง แปรรูปอีกหลายอย่าง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ปลาสลิดตากแห้งเป็นที่นิยมบริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งได้ส่งเป็นสินค้าส่งออกของประเทศอีกชนิดหนึ่ง ดังนั้นหากมีพื้นที่ที่เหมาะสม และทำการปรับปรุงเพื่อการเลี้ยงปลาสลิด จะช่วยเพิ่มปริมาณอาหารโปรตรีน และเสริมรายได้ให้แก่ครอบครัวเพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

ปลาสลิดบางบ่อ
northsquareoyster.com

อ้างอิง

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้