ชื่อสามัญ หรือชื่อภาษาอังกฤษ Cultivated banana
ชื่อวิทยาศาสตร์ Musa ABB cv’. Kluai ‘Namwa’
ชื่อวงศ์ MUSACEAE
ชื่ออื่น ๆ กล้วยไข่, กล้วยใต้, กล้วยส้ม, กล้วยหอม,กล้วยกะลิอ่อง, กล้วยมะนิอ่อง, มะลิอ่อง,กล้วยนาก,กล้วยเล็บมือ, กล้วยหอมจันทน์, กล้วยหักมุก,ยาไข่, สะกุย
กล้วยน้ำว้า เป็นกล้วยที่พัฒนามาจากลูกผสมระหว่างกล้วยป่ากับกล้วยตานี บริโภคกันอย่างแพร่หลาย ปลูกง่าย รสชาติดี คนไทยรับประทานกล้วยน้ำว้าทั้งผลสด ต้ม ปิ้ง และนำมาประกอบอาหาร กล้วยน้ำว้าเมื่อเทียบกับกล้วยหอมและกล้วยไข่ กล้วยน้ำว้าจะให้พลังงานมากที่สุด กล้วยน้ำว้าห่ามช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง ป้องกันโรคโลหิตจาง ช่วยบำรุงกระดูก ฟัน และเหงือกให้แข็งแรง ช่วยให้ผิวพรรณดี ช่วยให้ระบบขับถ่ายคล่องขึ้น กินกล้วยน้ำว้าสุก จะช่วยระบายท้องและสามารถรักษาโรคเลือดออกตามไรฟันในเด็กเล็กได้ ช่วยลดอาการเจ็บคอ เจ็บหน้าอกที่มีอาการไอแห้งร่วมด้วย กินกล้วยก่อนแปรงฟันทุกวันจะทำให้ไม่มีกลิ่นปาก และผิวพรรณดี กล้วยน้ำว้าดิบและห่ามรักษา อาการท้องเสียที่ไม่รุนแรงได้ นอกจากนี้จากการศึกษาวิจัยยังพบว่า มีผลในการรักษาโรคกระเพาะได้อีกด้วย กล้วยน้ำว้าสามารถแปรรูปได้หลากหลาย อย่างกล้วยน้ำว้าสุกสามารถใช้ทำเป็นขนม ของหวานต่าง ๆ เช่น กล้วยเชื่อม กล้วยบวชชี มีลักษณะสีเหลืองทั้งเปลือก และเนื้อ มีรสหวาน เหนียวนุ่ม นำมารับประทานเป็นผลไม้ และทำขนมหวาน แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น กล้วยตาก หรือ ข้าวต้มมัด เป็นต้น
ความเชื่อ
ความเชื่อเรื่องกล้วยของคนไทยมีอยู่มากมาย เนื่องจากกล้วยเป็นพืชที่อยู่คู่คนไทยมาอย่างเนิ่นนานแล้ว ในหญิงมีครรภ์มักไม่รับประทานกล้วยแฝดเพราะมีความเชื่อว่าจะได้ลูกแฝด แต่ถ้าบ้านไหนอยากได้ลูกแฝดก็รับประทานกล้วยแฝด ในงานมงคลมักมีกล้วยเข้ามาร่วมเกี่ยวในพิธีด้วย เช่น กล้วยทั้งเครือ กล้วยดิบ เป็นต้น ซึ่งหมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ มีลูกเต็มบ้านมีหลานเต็มเมือง และความสงบร่มเย็น ควรปลูกไว้ห่างจากตัวบ้าน เนื่องจากต้นกล้วยมีขนาดสูง และใบกล้วยจะมีความยาว หากปลูกไว้ใกล้ตัวบ้านอาจจะทำให้ใบกล้วยปกคลุมบ้านได้
ลักษณะทั่วไป
- ลำต้น เป็นพืชล้มลุก มีลำต้นใต้ดิน (rhizome) เรียกว่าเหง้า และแตกหน่อออกด้านข้าง อายุได้หลายปี ลำต้นบนดิน คือส่วนกาบใบที่เรียงเวียนซ้อนกันเป็นลำต้นเทียมมีสีสีเขียวและมีปื้นดำเล็กน้อย ด้านในสีเขียวอ่อน รูปทรงกระบอก สูง 2-9 เมตร
- ใบ เป็นใบเดี่ยวขนาดใหญ่ กว้าง 0.7-1.0 เมตร ออกเรียงเวียนสลับกัน ลักษณะใบรูปขอบขนานแกมรูปไข่ โคนใบมนหรือเฉียง ขอบใบเรียบ และมีแถบสีแดงเล็กโดยรอบ ปลายใบแหลมหรือเรียวแหลม แผ่นใบยาวสีเขียว ท้องใบหรือใต้ใบสีขาวนวล เส้นกลางใบหรือแกนใบเป็นร่องลึกแข็งเห็นชัดเจน เส้นใบมีจำนวนมาก แยกออกจากเส้นกลางใบทั้งสองข้าง ขนานกันไปจดขอบใบ ก้านใบมีลักษณะเป็นเนื้อเยื่อตรงกลางเป็นรูพรุน ยาว 1-2 เมตร ส่วนโคนแผ่ออกเป็นกาบ
- ดอก เป็นช่อห้อยลง เรียกหัวปลี ยาว 30-150 ซม. ก้านดอกช่อแข็ง ดอกย่อยแยกเป็นดอกเพศผู้ และเพศเมีย ดอกเพศเมียมักอยู่ตอนล่างของช่อ ดอกย่อยเป็นกลุ่มๆ เป็นช่อดอกย่อย แต่ละกลุ่มรองรับด้วยใบประดับขนาดใหญ่สีม่วงแดง ซึ่งติดบนแกนกลางช่อ ดอกแบบเรียงเวียนสลับกัน ดอกย่อยมีขนาดใหญ่ รูปทรงกระบอก กลีบดอกแยกออกเป็น 3-5 แฉก เกสรตัวผู้ที่สมบูรณ์มี 5 อัน ก้านเกสรตัวผู้แข็ง อับเรณูรูปขอบขนาน มี 2 พู รังไข่ติดอยู่ได้ กลีบดอกมี 3 ช่อง แต่ละช่องมีไข่อ่อนจำนวนมากติดรอยเชื่อมของแต่ละช่อง เกสรตัวเมียเป็นเส้นด้าย ยอดเกสรตัวเมียค่อนข้างกลม มี 6 พู
- ผล ลักษณะรูปรี ผิวเรียบ ปลายเป็นจุก ออกผลเป็นแผงเรียกว่าหวี และเรียงซ้อนกันหลายหวี เรียกว่า เครือ ผลดิบมีสีเขียว เมื่อสุกมีรสหวาน มีสีเหลือง เนื้อในสีขาวหรือขาวอมเหลือง รับประทานได้
- เมล็ด ไม่มี หรือ มีแต่น้อย ค่อนข้างกลม สีดำ
สายพันธุ์กล้วยน้ำว้า
สำหรับกล้วยน้ำว้าแบ่งออกเป็น 3 ชนิด ตามสีของเนื้อ คือ น้ำว้าแดง น้ำว้าขาว และน้ำว้าเหลือง นอกจากนี้ยังมีกล้วยน้ำว้าดำ ซึ่งเปลือกมีสีครั่งปนดำ แต่เนื้อมีสีขาว รสชาติอร่อยคล้ายกล้วยน้ำว้าขาว
วิธีการปลูก
กล้วยชอบดินร่วนที่อุดมสมบูรณ์ ระบายน้ำและอากาศดี มีความชุ่มชื้นพอเหมาะ หรือที่เรียกกันว่า “ดินน้ำไหลทรายมูล” ฉะนั้นถ้าหากปลูกในดินเหนียว ควรผสมปุ๋ยคอกเพื่อช่วยให้ดินโปร่งขึ้น หรือยกร่องเพื่อช่วยระบายน้ำด้วย นอกจากนี้ยังชอบอากาศร้อนชื้นและแสงแดดพอสมควร แต่ต้องระวังหากมีลมแรงมาก เพราะใบกล้วยค่อนข้างใหญ่ จึงมีความต้านลมสูง และขอแนะนำให้เริ่มปลูกกล้วยในช่วงหน้าฝน ควรปลูกระยะห่าง 4×4 เมตร ในหลุมขนาด 50×50×50 รองพื้นด้วยสารป้องกันและกำจัดแมลง ป้องกันการถูกทำลายในช่วงแรก…จากนั้นใส่ปุ๋ยสูตร 46-0-0 ทุกเดือน ต้นละ 1 กำมือ เพื่อเร่งการเจริญเติบโตของใบและลำต้น เมื่อกล้วยอายุ 4 เดือน ให้ปุ๋ย 46-0-0 ผสมกับ 15-15-15 อัตรา 1 : 1 ต้นละ 1 กำมือ ให้น้ำด้วยระบบน้ำพุ่งสัปดาห์ละครั้ง ปลูกไปประมาณ 1 ปี ก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตรุ่นแรกได้ และให้ผลผลิตรุ่นต่อไปในอีก 2 เดือนถัดมา กล้วยพันธุ์ต้นใหญ่ต้องการพื้นที่สังเคราะห์แสงมาก จำเป็นต้องตัดแต่งใบให้โปร่งอยู่เสมอ เพื่อให้อากาศถ่ายเทสะดวก เพื่อจะได้มีผลผลิตออกมาตลอด คัดหน่อที่สวยสมบูรณ์เอาไว้ 5 หน่อ ส่วนพื้นรอบๆหมั่นกำจัดวัชพืชให้แปลงสะอาด ไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของโรคและแมลงเพราะจะทำให้ผลผลิตด้อยคุณภาพได้
วิธีการดูแลรักษา
กล้วยน้ำว้าเป็นพืชที่ทนแดดทนแล้งได้ค่อนข้างดี สามารถปลูกกลางแจ้งได้สบาย ส่วนน้ำให้รดทุกวัน แต่ระวังอย่าให้มีน้ำแฉะหรือน้ำขัง สำหรับปุ๋ยให้ใส่ทั้งปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักและปุ๋ยเคมี โดยช่วงแรกควรให้ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนเยอะ ส่วนปุ๋ยยูเรียให้เดือนละครั้ง นอกจากนี้อย่าลืมทำที่ค้ำยันในกรณีที่ต้นมีขนาดเล็กแต่ผลใหญ่ด้วย ไม่เช่นนั้นอาจจะทำให้เกิดความเสียหายได้ อ้อ แล้วอย่าลืมหมั่นตัดหน่อที่แตกออกมาให้เหลือแค่ 1-2 หน่อ พร้อมทั้งตัดใบที่แห้งออก เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคและไม่ให้แย่งอาหารจากต้นแม่ด้วย
วิธีการขยายพันธุ์
การขยายพันธุ์สามารถทำได้ทั้งเพาะเมล็ด แยกหน่อ (ทั้งหน่ออ่อน หน่อใบแคบ และหน่อใบกว้าง) และเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ แต่จะนิยมใช้วิธีแยกหน่อมากที่สุด โดยการแยกหน่อมีวิธีดังนี้
- เลือกต้นแม่ที่มีหน่อใหม่อวบอ้วน แข็งแรงและให้ใบแล้ว 3-4 ใบ
- ขุดดินรอบ ๆ หน่อที่ต้องการแยก ระวังอย่าให้โดนหน่อเล็ก ๆ ข้าง ๆ ต้นแม่ ให้ลึกลงไปประมาณ 20-30 เซนติเมตร จนเห็นราก
- ตัดระหว่างหน่อแม่และหน่อลูกให้ขาด และค่อย ๆ งัดหน่อขึ้นจนรากลอย
- ล้างแผลที่หน่อลูกให้สะอาด ผึ่งให้พอแห้งแล้วใช้ปูนแดงทาบริเวณบาดแผลเพื่อป้องกันหน่อเน่า และทาปูนแดงตรงแผลรอยตัดที่ต้นแม่ด้วย
- นำหน่อกล้วยน้ำว้าต้นลูกลงปลูกในแปลงที่จัดเตรียมไว้ และรดน้ำเป็นประจำ
โรคและศัตรูของกล้วย
สำหรับโรคและแมลงสำคัญที่พบบ่อยในต้นกล้วย ได้แก่ โรคตายพราย โรคใบจุด ด้วงงวง และหนอนม้วนใบ ดังนั้นใครคิดจะปลูก ก็ต้องคอยดูแล ใส่ใจ และป้องกันสิ่งเหล่านี้ให้ดี
ประโยชน์และสรรพคุณ
กล้วยน้ำว้าเป็นพืชที่ใช้ประโยชน์ได้ทั้งต้น นอกจากจะนำผลสุกมากินสด ๆ เป็นผลไม้แล้ว ยังนำไปทำขนมหวาน เช่น กล้วยบวชชีหรือเค้กกล้วยไข่ก็ได้ นำไปแปรรูปเป็นกล้วยฉาบก็ดี นำไปส่งออกขายสร้างรายได้ก็เด่น ส่วนหยวกกล้วยก็นำไปประกอบอาหารได้หลากหลาย กาบกล้วยก็ใช้รัดของได้มากมาย ใบตองก็นำไปห่อของกินได้เพียบ ก้านกล้วยก็นำไปทำของเล่นได้ไม่น้อย ยิ่งไปกว่านั้นลำต้นยังนำไปทำกระดาษสาหรือบดเป็นอาหารสัตว์ได้อีกด้วย นอกจากนี้กล้วยน้ำว้ายังมีสรรพคุณทางยาอีกมากมาย เช่น
- ใบ รสเย็นจืด ปิ้งไฟปิดแผลไฟไหม้ หรือต้มน้ำอาบแก้เม็ดผดผื่นคัน ตามร่างกาย
- น้ำยาง รสฝาด น้ำยางจากก้านใบใช้เป็นยาสมานแผล ใช้ห้ามเลือด โดยใช้ยางหยดลงที่บาดแผล
- ผล มีธาตุเหล็กในปริมาณสูง ช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง ป้องกันโรคโลหิตจาง มีแคลเซียม ฟอสฟอรัส และวิตามินซีช่วยบำรุงกระดูก ฟัน และเหงือกให้แข็งแรง ช่วยให้ผิวพรรณดี มีเบต้าแคโรทีน ไนอาซีนและใยอาหาร ช่วยให้ระบบขับถ่ายคล่องขึ้น กินกล้วยน้ำว้าสุก จะช่วยระบายท้องและสามารถรักษาโรคเลือดออกตามไรฟันในเด็กเล็กได้ ช่วยลดอาการเจ็บคอ เจ็บหน้าอกที่มีอาการไอแห้งร่วมด้วย โดยกินวันละ 4-6 ลูก แบ่งกินกี่ครั้ง ก็ได้ กินกล้วยก่อนแปรงฟันทุกวันจะทำให้ไม่มีกลิ่นปาก และผิวพรรณดี เห็นผลได้ใน 1 สัปดาห์ กล้วยน้ำว้าดิบและห่ามมีสารแทนนิน เพคตินมีฤทธิ์ฝาดสมาน รักษา อาการท้องเสียที่ไม่รุนแรงได้ โดยกินครั้งละครึ่งผล หรือ 1 ผล อาการท้องเสียจะทุเลาลง นอกจากนี้จากการศึกษาวิจัยยังพบว่า มีผลในการรักษาโรคกระเพาะได้อีกด้วย
- ผลดิบ รสฝาด แก้โรคท้องเสีย สมานแผล รักษาแผลในกระเพาะอาหาร และอาหารไม่ย่อย, ใช้ผงกล้วยดิบโรยรักษาแผลเรื้อรัง แผลเน่าเปื่อย และแผลติดเชื้อต่างๆ
- ผลสุก รสหวาน ใช้เป็นยาระบายสำหรับผู้ที่เป็นโรคริดสีดวงทวาร หรือผู้ที่มีอุจจาระแข็ง บำรุงกำลัง บำรุงร่างกาย รักษาแผลในกระเพาะอาหาร
- ดอกหรือหัวปลี รสฝาด แก้โรคโลหิตจาง บำรุงน้ำนม ลดปริมาณน้ำตาลในเลือด แก้โรคกระเพาะอาหารลำไส้ และรักษาโรคเบาหวาน น้ำคั้นจากหัวปลี ดื่มเป็นยาบำรุงโลหิต และถ่ายเป็นมูกเลือด
- หยวกกล้วย รสฝาดเย็น เผาไฟรับประทานเป็นยาขับพยาธิ
- เหง้าหรือลำต้นใต้ดิน รสฝาดเย็น ปรุงเป็นยาแก้ริดสีดวงทวารชนิดมีเลือดออกหรือรักษาแผลภายในช่องทวาร
- ราก รสฝาดเย็น ต้มน้ำดื่มแก้ไข้ ท้องเสีย แก้โรคบิด แก้ร้อนใน กระหายน้ำ สมานแผลภายใน และแก้ผื่นคัน