พืช
เศรษฐกิจ

พืชเศรษฐกิจ พืชมูลค่าสูงที่มีบทบาทสำคัญในระดับโลก

“พืชเศรษฐกิจ” น่าจะเป็นคำที่หลายคนได้ยินจนคุ้นเคยกันดี แต่อาจยังไม่รู้แน่ว่าพืชกลุ่มนี้มีความสำคัญมากแค่ไหน จากข้อมูลของกรมส่งเสริมการเกษตร กรมชลประทาน ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง พบว่าพืชเศรษฐกิจของไทยหลายชนิดสร้างเม็ดเงินให้กับประเทศอย่างมหาศาลทุกปี ในรูปแบบของการบริโภคภายในประเทศและการทำเป็นสินค้าส่งออก ทั้งยังเชื่อมโยงไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดการเพิ่มมูลค่าของพืชเศรษฐกิจและเกิดการสร้างงานอีกต่อหนึ่ง หากเกษตรกรทำความเข้าใจและเลือกเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจที่เหมาะสมกับทรัพยากรของตัวเองได้ ก็มีแนวโน้มว่าจะได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่าการลงทุนลงแรงมากกว่าการเพาะปลูกพืชทั่วไปเพียงอย่างเดียว เพราะพืชเศรษฐกิจจะมีตลาดรองรับและมีช่องทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นอยู่เสมอ

ความหมายของพืชเศรษฐกิจ

พืชเศรษฐกิจ หมายถึงพืชทุกชนิดที่มีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีวิต ไม่ใช่แค่ใช้เป็นแหล่งอาหารเพื่อสร้างพลังงานให้กับมนุษย์และสัตว์ หรือใช้เป็นวัสดุสำหรับปลูกสร้างที่อยู่อาศัยเท่านั้น แต่หมายรวมถึงการอุปโภคบริโภคในทุกรูปแบบ ทั้งยังต้องมีมูลค่าในเชิงการค้ามากพอที่จะสามารถเพาะปลูกเป็นอาชีพได้ด้วย คุณกิตตินันท์ วรอนุวัฒนกุล กล่าวเพิ่มเติมไว้ว่า การเลือกเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างเหมาะสมจะช่วยให้ได้ผลิตผลที่มีคุณภาพสูง สามารถซื้อขายได้ดีทั้งในประเทศและนอกประเทศ เป็นการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและส่งผลต่อการเพิ่มรายได้โดยรวมของประเทศไปพร้อมกัน

พืชเศรษฐกิจ คือ

ความสำคัญของพืชเศรษฐกิจ

เส้นทางของพืชเศรษฐกิจตั้งแต่เริ่มต้นเพาะปลูกไปจนถึงการใช้ประโยชน์ในลำดับสุดท้าย มีผลกระทบต่อบุคคลและสังคมในวงกว้าง การแบ่งบทบาทความสำคัญของพืชเศรษฐกิจออกเป็นด้านต่างๆ จะช่วยให้มองเห็นภาพรวมได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ดังนี้

  • ความสำคัญในด้านอาหาร
    บทบาทแรกของกลุ่มพืชเศรษฐกิจก็คือเป็นแหล่งอาหาร จากสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้พื้นที่เพาะปลูกลดน้อยลงเรื่อยๆ ขณะที่ความต้องการอาหารประเภทพืชกลับเพิ่มสูงขึ้นตามจำนวนประชากร ความมั่นคงในด้านอาหารของโลกจึงมีสัญญาณว่าจะกลายเป็นปัญหาสำคัญในไม่ช้า แม้ว่าเทคโนโลยีในปัจจุบันจะยังไม่สามารถส่งเสริมภาคการผลิตให้มีประสิทธิภาพได้มากเท่ากับความต้องการ แต่หากมีการวางแผนและปรับโครงสร้างต่างๆ เกี่ยวกับพืชเศรษฐกิจอย่างดีแล้ว ก็จะช่วยบรรเทาความขาดแคลนอาหารไปได้มาก
  • ความสำคัญในด้านพลังงาน
    ประเด็นเรื่องพลังงานเป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้ความสำคัญมานาน เนื่องจากพลังงานเชื้อเพลิงซึ่งเป็นพลังงานหลักในปัจจุบันนั้นมีจำกัด วันหนึ่งมันจะหมดไปและสร้างผลกระทบต่อทุกภาคส่วน โดยเฉพาะประเทศไทยที่ยังต้องนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นเงินมหาศาลทุกปี การมีพลังงานทดแทนของตัวเองย่อมดีกว่า ข้อได้เปรียบก็คือเรามีแหล่งเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจหลายชนิดที่สามารถนำมาผลิตพลังงานทดแทนได้ เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์ม เป็นต้น ไบโอดีเซลเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ได้เสียงตอบรับค่อนข้างดีในวงการเกษตร แต่ยังต้องได้รับการผลักดันและสนับสนุนให้เกิดการใช้งานอย่างแพร่หลายมากขึ้นอีก
  • ความสำคัญในด้านการส่งออก
    จากข้อมูลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ระบุว่า พืชเศรษฐกิจ 6 ชนิด อันได้แก่ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน อ้อย และข้าวโพด ที่เพาะปลูกโดยครัวเรือนเกษตรกรของประเทศไทย เป็นสินค้าส่งออกที่สร้างรายได้รวมกันหลายแสนล้านบาท และยังเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นถ้ามีเกษตรกรหันมาสนใจการผลิตพืชเศรษฐกิจมากขึ้น ก็มีแนวโน้มว่ามูลค่าการส่งออกก็จะเพิ่มขึ้นด้วย แม้ว่าความผันผวนของราคาซื้อขายจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ต้องตามแก้ไขกันอยู่เสมอ แต่โดยรวมก็ยังถือว่าคุ้มค่ากับการลงทุนอยู่ดี
พืชเศรษฐกิจข้าวโพด
blog.arda.or.th

พืชเศรษฐกิจในประเทศไทย

เนื่องจากประเทศไทยมีทรัพยากรที่เหมาะกับงานด้านเกษตรกรรมมาตั้งแต่ต้น ต่อให้สภาพเศรษฐกิจและสังคมจะเปลี่ยนแปลงไปมาก ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าผลผลิตจากการเกษตรยังคงเป็นสิ่งที่สร้างรายได้หลักให้คนส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ แค่ไม่ได้ขายในลักษณะของวัตถุดิบเพียงอย่างเดียวอีกแล้ว แต่เพิ่มการแปรรูปเพื่อให้ใช้ประโยชน์ได้สะดวกและหลากหลายขึ้น ยิ่งในกลุ่มของพืชเศรษฐกิจที่เป็นทั้งสินค้าหมุนเวียนภายในประเทศและเป็นสินค้าส่งออกมูลค่าสูง ก็ยิ่งต้องการกำลังผลิตที่มีคุณภาพมาก ดร.กรรณิการ์ ดวงเนตร และ ดร. สุพรรณิกา ลือชารัศมี กล่าวว่า ปัจจุบันพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญของประเทศไทยมีอยู่ 4 ชนิด ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ ยาวพารา มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน ซึ่งพืชเหล่านี้เป็นพืชที่โดดเด่นและสร้างกำไรได้สูงในกลุ่มพืชประเภทเดียวกัน อย่างเช่น ข้าวหอมมะลินั้นมีกลิ่นหอมเฉพาะตัวและมีเนื้อสัมผัสที่ดีจนได้รับความนิยมจากทั่วโลก ปาล์มน้ำมันสามารถใช้ประโยชน์ได้ในหลายอุตสาหกรรม และยังเป็นวัตถุดิบผลิตเชื้อเพลิงส่งออกที่สร้างรายได้สูงสุดในบรรดาพืชน้ำมันทั้งหมด เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม พืชเศรษฐกิจทั้งหมดในประเทศไทยยังมีความผันผวนอยู่ตลอดเวลา เพราะได้รับอิทธิพลจากราคาสินค้าในตลาดโลกซึ่งจะแปรผันตามการส่งออกและนำเข้าของรายใหญ่เสมอ หากพืชเศรษฐกิจชนิดไหนที่มีค่าความผันผวนสูงเกินไป ในระยะยาวก็จะส่งผลต่อการปรับโครงสร้างของภาคการผลิตทั้งหมด เรื่องนี้สามารถอธิบายให้เข้าใจได้ง่ายๆ ดังนี้ เมื่อเกษตรกรปลูกพืชชนิดหนึ่งแล้วพบว่าแต่ละปีไม่อาจประเมินรายรับที่แน่นอนได้ บางปีราคาพืชผลต่ำมากจนเกิดความเดือดร้อน ก็มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนพืชที่เพาะปลูกหรือเปลี่ยนอาชีพไปเลย ทำให้ผลผลิตรวมของประเทศลดน้อยลง นี่ยังไม่รวมเรื่องของการเมือง ความเสื่อมโทรมของทรัพยากร และความแปรปรวนของสภาพดินฟ้าอากาศอีกด้วย

พืชเศรษฐกิจไทย
www.sanook.com

ตัวอย่างพืชเศรษฐกิจหลักๆปัจจุบันในประเทศไทย

ข้าว

นอกจากข้าวจะเป็นอาหารหลักของคนไทยแล้ว ก็ยังเป็นสินค้าส่งออกสำคัญที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรเสมอมา โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิที่ถือว่าเป็นสายพันธุ์ข้าวคุณภาพประจำชาติ มีลักษณะเป็นข้าวเมล็ดเรียวยาว เนื้อขาวใส มีกลิ่นหอมคล้ายใบเตย ต้องผ่านกระบวนการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวอย่างพิถีพิถันเพื่อรักษาความหอมของเมล็ดข้าวเอาไว้จนกว่าจะถึงมือผู้บริโภค สายพันธุ์ข้าวหอมมะลิที่นิยมปลูกกันจะเป็นพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และพันธุ์ กข. 15 มีแหล่งเพาะปลูกใหญ่อยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือของประเทศไทย แต่ข้าวหอมมะลินี้มีข้อจำกัดตรงที่สามารถปลูกได้แค่ปีละครั้ง จึงต้องมีการเพาะปลูกข้าวสายพันธุ์อื่นร่วมด้วย ซึ่งเราสามารถแบ่งคุณภาพของข้าวตามประเภทการเพาะปลูกได้ดังนี้

  • ข้าวนาปี เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าข้าวไวแสง เป็นข้าวที่ปลูกในฤดูกาลทำนาปกติ คุณวรุฒ แสนสุข กล่าวว่าปริมาณแสงมีผลต่อการเจริญเติบโตของสายพันธุ์ข้าวประเภทนี้ ถ้าช่วงกลางวันยาวนานพอ ต้นข้าวจะโตเต็มที่และออกรวงได้ดี แต่ถ้าช่วงกลางวันสั้น ข้าวจะออกรวงเร็วจนทำให้เมล็ดข้าวมีขนาดเล็ก ข้าวนาปีเป็นข้าวคุณภาพดีที่ผู้บริโภคส่วนมากชื่นชอบ แล้วก็เป็นสินค้าส่งออกมูลค่าสูงด้วย
  • ข้าวนาปรัง เป็นสายพันธุ์ข้าวที่ต้องปลูกนอกฤดูกาลทำนา ต้นข้าวจะเติบโตและออกรวงตามอายุโดยไม่เกี่ยวกับการได้รับแสงในแต่ละวัน ลักษณะข้าวที่ได้จะมีเมล็ดแข็งและคุณภาพต่ำ ถึงเรทราคาซื้อขายจะต่ำกว่าข้าวนาปี แต่ก็เป็นสินค้าส่งออกที่มองข้ามไม่ได้เหมือนกัน
พืชเศรษฐกิจข้าว

ยางพารา

จุดเริ่มต้นของยางพารามาจากอำเภอกันตัง จังหวัดตรัง แล้วขยายพื้นที่เพาะปลูกเป็นวงกว้างจนยางพารากลายเป็นสินค้าประจำภาคใต้อยู่ช่วงหนึ่ง จากนั้นสวนยางได้กระจายตัวไปทั่วทุกภาคและกลายเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศในลำดับถัดมา พืชชนิดนี้เป็นไม้ยืนต้นที่ต้องใช้เวลาปลูกยาวนานถึง 6 ปี เมื่อต้นยางโตพอที่จะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ในแต่ละปีเกษตรกรก็จะกรีดยางได้เฉลี่ยแค่ 120-180 วันเท่านั้น เพราะระดับความชื้นของสภาพแวดล้อมมีผลต่อคุณภาพและปริมาณน้ำยาง ปลายฝนต้นหนาวเป็นช่วงที่กรีดยางได้มาก และปริมาณจะลดลงเมื่อย่างเข้าสู่หน้าร้อน ส่วนหน้าฝนถึงจะมีน้ำมากแต่ก็กรีดยางยากลำบาก แถมยังสุ่มเสี่ยงที่น้ำยางจะคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานด้วย น้ำยางเกือบทั้งหมดจะถูกทำให้เป็นแผ่นยางดิบที่นำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ง่าย และส่วนที่เหลืออีกเล็กน้อยจะกลายเป็นน้ำยางข้นขั้นสุดท้าย ปัจจุบันอุตสาหกรรมยางพาราจะแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือยางแห้งและยางน้ำข้น โดยคุณรินใจ ชาครพิพัฒน์ได้กล่าวไว้ว่า ในบรรดาผลิตภัณฑ์จากน้ำยางพาราทั้งหมด ยางแผ่นรมควันเป็นสินค้าส่งออกที่ทำให้เกิดรายได้มากที่สุด ยิ่งเป็นเกรดที่มีความบริสุทธิ์และความยืดหยุ่นสูงเท่าไรก็ยิ่งขายได้ราคาดีเท่านั้น นอกจากนี้หากผลผลิตยางพาราเติบโตได้ดี อุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องก็จะเติบโตตามไปด้วย เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น

พืชเศรษฐกิจยางพารา
mnprubber.lnwshop.com

มันสำปะหลัง

ถ้าให้นึกถึงพืชที่นิยมปลูกกันมากในทุกพื้นที่ อย่างไรก็ต้องมีมันสำปะหลังอยู่ในกลุ่มนั้นด้วย เพราะนี่เป็นพืชที่เพาะปลูกง่าย ปรับตัวได้เร็ว ทนแล้งได้ดี ทั้งยังปลูกต่อเนื่องได้ตลอดทั้งปีด้วย ช่วงไหนที่มีปริมาณน้ำเพียงพอหัวมันก็จะโตได้เต็มที่และเก็บเกี่ยวได้รวดเร็ว หลายพื้นที่จึงนิยมเพาะปลูกในช่วงต้นฤดูฝนมากกว่า จุดแข็งของพืชชนิดนี้คือต้นทุนในการเพาะปลูกต่ำแต่ให้ผลตอบแทนต่อไร่ค่อนข้างสูง มันสำปะหลังยังแบ่งออกเป็นมันหวานและมันขม ซึ่งเหมาะกับการนำไปใช้งานแตกต่างกัน มันหวานอย่างเช่นสายพันธุ์ 5 นาที และสายพันธุ์ระยอง 2 จะเป็นมันสำหรับบริโภค แต่มันขมจะถูกแปรรูปเพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์มากกว่า มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบที่ใช้ประโยชน์ได้ค่อนข้างหลากหลาย เฉพาะในประเทศไทยก็จะยังแบ่งอุตสาหกรรมหลักของมันสำปะหลังได้ 3 ประเภท ได้แก่

  • อุตสาหกรรมมันเส้น เป็นการแปรรูปลำดับแรกหลังการเก็บเกี่ยว มันเส้นที่ได้จะส่งออกส่วนหนึ่งและนำไปแปรรูปต่ออีกส่วนหนึ่ง
  • อุตสาหกรรมมันอัดเม็ด เป็นการนำมันเส้นมาทำให้กลายเป็นเม็ดขนาดเล็ก ก่อนส่งออกเพื่อไปผลิตเป็นอาหารสัตว์ต่อไป
  • อุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลัง ประเทศไทยเป็นรายใหญ่ในการส่งออกผลิตภัณฑ์แป้งมันสำปะหลัง นี่จึงเป็นการแปรรูปที่สร้างรายได้มากที่สุด

คุณมนสิชา แดงรัศมีโสภณ กล่าวว่า มันสำปะหลังคือพืชเศรษฐกิจสำคัญที่ไม่ได้ใช้เพื่อผลิตวัตถุดิบพื้นฐานข้างต้นเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดอุตสาหรรมอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย อย่างเช่น อุตสาหกรรมเชื้อเพลิง อุตสาหกรรมกระดาษ อุตสาหกรรมกาว แม้แต่อุตสาหกรรมสิ่งทอก็ใช้ประโยชน์จากมันสำปะหลังได้เช่นเดียวกัน

พืชเศรษฐกิจมันสำปะหลัง
www.technologychaoban.com

ปาล์มน้ำมัน

ด้วยธรรมชาติของปาล์มน้ำมันที่เติบโตได้ดีในสภาพอากาศแบบร้อนชื้น ภาคใต้ของไทยจึงกลายเป็นแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญไปโดยปริยาย ซึ่งกำลังผลิตหลักในปัจจุบันจะอยู่ที่จังหวัดกระบี่ สุราษฎร์ธานี ชุมพร และตรัง นอกนั้นก็กระจายตัวไปตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ การประเมินว่าพื้นที่ไหนเหมาะสมกับการปลูกต้นปาล์มน้ำมันหรือไม่ก็วัดได้จากปริมาณน้ำฝน เพราะนี่คือปัจจัยหลักที่จะทำให้ต้นปาล์มอยู่รอดได้และให้ผลผลิตที่มีคุณภาพดี ปาล์มน้ำมันถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้จากการส่งออกให้กับประเทศสูงมาก เมื่อเทียบกับพืชน้ำมันชนิดอื่นแล้วปาล์มน้ำมันเป็นวัตถุดิบพื้นฐานที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ค่อนข้างหลากหลาย ไม่ใช่แค่การบริโภคภายในครัวเรือนทั่วไป แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น อุตสาหกรรมผลิตสบู่ อุตสาหกรรมผลิตขนมขบเคี้ยว อุตสาหกรรมผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เป็นต้น เฉพาะภาคครัวเรือนและอุตสาหกรรมภายในประเทศก็ยังมีอัตราการใช้น้ำมันปาล์มค่อนข้างสูง ถึงขนาดที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศในบางช่วงที่เราผลิตน้ำมันปาล์มได้ไม่เพียงพอ เมื่อมองภาพรวมในระดับโลก ความต้องการน้ำมันปาล์มก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นเดียวกัน

พืชเศรษฐกิจปาล์มน้ำมัน
www.infoquest.co.th

พืชเศรษฐกิจในอนาคต

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้มีการรวบรวมข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับพืชเศรษฐกิจเอาไว้ โดยอธิบายถึงความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ทำให้ความต้องการพืชเหล่านั้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มูลค่าของพืชเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย รายละเอียดเหล่านี้จะช่วยให้เราคาดการณ์แนวโน้มของพืชแต่ละชนิด เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจเพาะปลูกหรือทำกิจกรรมใดๆ เกี่ยวกับพืชเศรษฐกิจที่สนใจได้

  • ข้าว
    จากสถิติการส่งออกข้าวของไทยในปีที่ผ่านๆ มาพบว่า ถ้าสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกและมีนโยบายการสนับสนุนจากภาครัฐที่ดี มูลค่าการส่งออกก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลล่าสุดในปี 2563 เรามีมูลค่าการส่งออกข้าวอยู่ที่ 120,000 ล้านบาท และผลผลิตจากข้าวก็ต่อเนื่องไปยัง 5 อุตสาหกรรมที่มีมูลค่ารวมกว่า 340,773.16 ล้านบาทต่อไป ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารและสุขภาพ อุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อุตสาหกรรมผลิตน้ำมันพืช อุตสาหกรรมเอทานอล และอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ จะเห็นได้ว่าแต่ละอุตสาหกรรมล้วนมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต โดยมีอุตสาหกรรมอาหารและสุขภาพเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ และมีอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นส่วนที่สร้างมูลค่าได้สูงสุด ความต้องการข้าวจึงมีแนวโน้มเพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับมีมูลค่าการซื้อขายที่สูงขึ้นด้วย
  • มันสำปะหลัง
    อย่างที่เรารู้กันแล้วว่า มันสำปะหลังนั้นเป็นวัตถุดิบตั้งต้นที่นำไปแปรรูปเพื่อใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย พืชเศรษฐกิจชนิดนี้จึงเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมมากกว่า 10 ประเภท คิดเป็นมูลค่า 1,209,697.18 ล้านบาทต่อปี โดยมีอุตสาหกรรมแป้งมัน อุตสาหกรรมสิ่งทอ และอุตสาหกรรมอาหารทั่วไป เป็นกลุ่มที่สร้างมูลค่าได้สูงไล่เลี่ยกัน ในช่วงปี 2563 ประเทศไทยส่งออกมันสำปะหลังที่ผ่านการแปรรูปแล้วได้ 6.73 ล้านตัน สร้างมูลค่าได้ 79,414 ล้านบาท และคาดว่าแนวโน้มการส่งออกของมันสำปะหลังยังคงสดใสไปอีกนาน เนื่องจากเราเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่กินส่วนแบ่งตลาดสูงมาก แม้ว่าสหภาพยุโรปจะเคยมีนโยบายลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังจนการส่งออกของเราได้รับผลกระทบ แต่ไม่นานก็มีภูมิภาคเอเชียที่มีกำลังซื้อสูงมารองรับแทน
  • ยางพารา
    ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งที่มีตลาดรองรับอยู่เสมอ เพราะเป็นวัตถุดิบที่นำไปต่อยอดเพื่อใช้ประโยชน์ได้มาก ปัจจุบันยางพาราเชื่อมโยงกับ 9 อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงถึง 306,335.29 ล้านบาทต่อปี ซึ่งอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางนั้นสร้างมูลค่าได้สูงสุด ในปี 2563 เรามีอัตราการใช้ผลิตผลจากยางพาราภายในประเทศ 695,443 ตัน และส่งออกอีก 3.8 ล้านตัน เส้นทางการเติบโตของยางพารานั้นค่อนข้างสวยงาม เนื่องจากเรามีตลาดรองรับหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นจีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น อเมริกา หรือเกาหลีใต้ ประเทศเหล่านี้ต้องการน้ำยางจำนวนมากเพื่อไปทำผลิตภัณฑ์ยางในรูปแบบต่างๆ และถ้าในอนาคตประเทศไทยมีการลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมยางขั้นกลางและขั้นปลายเพิ่มอีก มูลค่ายางพาราก็จะสูงกว่านี้หลายเท่าตัว
  • อ้อย
    ก่อนหน้านี้อ้อยยังไม่ได้เป็นพืชที่ได้รับความสนใจมากนัก แต่ต่อมาก็เติบโตได้แบบก้าวกระโดด จากข้อมูลล่าสุดในปี 2563 เราส่งออกผลผลิตจากอ้อยในรูปของน้ำตาลทรายได้สูงถึง 5.9 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 59,000 ล้านบาท นี่ยังไม่รวมปริมาณการบริโภคภายในประเทศอีก 2.6 ล้านตันด้วย ผลผลิตจากอ้อยนั้นเชื่อมโยงกับ 5 อุตสาหกรรม คิดเป็นมูลค่ารวม 175,524.63 ล้านบาทต่อปี ได้แก่ อุตสาหกรรมน้ำตาล อุตสาหกรรมเอทานอล อุตสาหกรรม Particla Board อุตสาหกรรมไฟฟ้า และอุตสาหกรรมไอโอแก็ส แน่นอนว่าการผลิตน้ำตาลทรายสร้างมูลค่าได้สูงสุดในปัจจุบัน มีการคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะส่งออกได้มากถึง 7.5-8.5 ล้านตันต่อปีภายใน 3 ปีข้างหน้านี้
พืชเศรษฐกิจอ้อย

แหล่งอ้างอิง