ในทุก ๆ วันมีสารพิษต่าง ๆ เข้าไปในร่างกายเรา ไม่ว่าจะเข้าไปทางตรงหรือทางอ้อม โดยสารพิษต่าง ๆ นั้นอยู่รอบตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นภายในอาคาร บ้านเรือน เช่นสีทาบ้าน สารเคลือบเฟอร์นิเจอร์ สถานที่ทำงานเช่น หมึกเครื่องพิม์ สารเคมีต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งอยู่ในอากาศที่เราหายใจเข้าไปในทุก ๆ วันโดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองที่มีมลพิษทางอากาศมากมาย ในปัจจุบันผู้คนต่างได้รับสารพิษตกค้างอยู่ในร่างกายเพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 45% โดยสารพิษเหล่านี้เป็นสิ่งที่ร่างกายไม่ต้องการเพราะหากเกิดการสะสมเข้าไปในร่างกายปริมาณมากขึ้น จะส่งผลให้ร่างกายของเราเป็นโรคต่าง ๆ ตามมานั่นเอง เช่น มะเร็ง โรคทางเดินหายใจ ภูมิแพ้ เป็นต้น จากที่กล่าวมานี้มีหนึ่ง สมุนไพร ที่เป็นตัวเลือกให้เราได้นำมาเป็นตัวช่วยในการขับสารพิษต่าง ๆ ออกจากร่างกาย และเพื่อช่วยป้องกันโรคต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น สมุนไพรที่ว่านี้คือชารางจืดนั่นเอง
ชารางจืด หรือ ว่านรางจืด เป็น ไม้เลื้อย หรือไม้เถาที่มีเนื้อแข็ง ลำต้นหรือเถากลมเป็นปล้อง มีสีเขียวสดหรือสีเขียวเข้ม ลำต้นไม่มีขนและไม่มีมือจับ อาศัยลำต้นในการพันรัดขึ้นไป รางจืดเป็นพืชในเขตร้อนและเขตอบอุ่นในทวีปเอเชีย จึงสามารถขึ้นได้ทั่วไปตามป่าดิบชื้นของทุกภาคในประเทศไทย สามารถเจริญเติบโตได้เร็วและขยายพันธุ์ด้วยการใช้เถาในการปักชำ รางจืดได้รับฉายาว่าเป็นสมุนไพรแห่งการถอนพิษ เป็นสมุนไพรที่กระทรวงสาธารณะสุขรณรงค์ให้เกษตรกรหรือบุคคลทั่วไปเลือกใช้เป็นยาแก้พิษต่าง ๆ เช่น พิษจากยาฆ่าแมลง ยาเบื่อ สารตะกั่ว และอื่น ๆ อีกมากมาย ยิ่งหากท่านที่อยู่ห่างไกลจากโรงพยาบาล หากได้รับสารพิษและจะนำตัวส่งโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาอาจจะต้องใช้ระยะเวลานาน จนทำให้ผู้ได้รับสารพิษเสียชีวิตได้ แต่หากมีต้นรางจืดปลูกอยู่แถวบ้าน เราก็สามารถใช้ใบรางจืดเพื่อรักษาบรรเทาอาการของผู้ได้รับสารพิษได้ โดยวันนี้เรามีสูตรในการนำชารางจืดไปใช้ในการถอนพิษ ซึ่งสามารถแบ่งออกได้หลายวิธีคือ
1.การคั้นเอาน้ำใบรางจืดเพื่อนำไปถอนพิษ มีวิธีการดังนี้
- นำใบรางจืดที่ไม่อ่อนหรือแก่จนเกินไปจำนวน 5-7 ใบไปล้างน้ำให้สะอาด
- โขลกให้ละเอียดและผสมกับน้ำดื่มหรือน้ำซาวข้าว 250 มิลลิลิตร
- กรองหรือคั้นน้ำรางจืดดื่มครั้งละ 1 แก้ววันละ 1 ครั้งหรือรับประทานหากได้รับสารพิษ
5 วิธีปลูกสมุนไพรง่าย ๆ ประโยชน์เยอะ ปลูกได้ทุกที่
2.การใช้รากรางจืดถอนพิษ มีวิธีการดังนี้
- นำรากของรางจืดที่มีอายุ 1 ปีขึ้นไปขนาดรากเท่านิ้วก้อยตัดความยาวเท่า ๆ ที่มือจับได้ถนัดแล้วล้างให้สะอาด
- โขลกหรือฝนผสมกับน้ำสะอาดหรือน้ำซาวข้าว
- รับประทานครั้งละ 1 แก้วหรือหากมีอาการ
3.การต้มชารางจืด มีวิธีการดังนี้
- นำใบรางจืดที่ไม่อ่อนหรือไม่แก่จนเกินไป 5-7 ใบล้างให้สะอาด
- ต้มกับน้ำสะอาด จำนวน 1.5 ลิตร ต้มจนน้ำเดือด แล้วต้นด้วยไฟอ่อน ๆ อีกประมาณ 10 นาที ผสมกับใบเตยหอมเล็กน้อยเพื่อให้มีกลิ่นหอมหรือสามารถปรุงรสให้รับประทานง่ายด้วยน้ำตาลหรือหญ้าหวานตามชอบ
- เทใส่แก้วดื่มขณะอุ่น ๆ หรือเติมน้ำแข็งดื่มเย็น ๆ ก็สามารถทำได้เช่นกัน
4.การนำรางจืดมาทำเป็นชาสมุนไพร มีวิธีและขั้นตอนง่าย ๆ ดังนี้
- นำใบรางจืดมาล้างให้สะอาด และหั่นให้เป็นฝอย
- นำไปตากแดดให้แห้ง แล้วเก็บใส่ภาชนะแห้งปิดฝาให้สนิทและเก็บไว้ในอุณหภูมิห้อง
- ใช้ชารางจืดฝอยแห้ง 1-2 ช้อนชาต้มในน้ำเดือด 250-300 มิลลิลิตรประมาณ 10 นาทีและรับประทาน
แข็งแรงกว่าเดิมด้วย 7 ตำรับบอระเพ็ด สมุนไพรป้องกันความแก่
5.วิธีการทำชารางจืดหวาน มีวิธีการและวัตถุดิบดังนี้
- ใบรางจืดสับละเอียด 1 กิโลกรัม และน้ำตาลทราย 3 กิโลกรัม
- กระทะ ผ้าขาวบาง ไม้พาย ตะแกรงร่อน เครื่องปั่นหรือครก
- น้ำสะอาด 2 ลิตร
- นำชารางจืดที่เตรียมไว้มาล้างทำความสะอาดให้เรียบร้อย
- จากนั้นนำรางจืดมาปั่นหรือตำให้ละเอียดคั้นเอาแต่น้ำ กรองด้วยผ้าขาวบาง
- เติมน้ำที่เหลือลงไป นำไปต้มให้เดือดและเคี่ยวต่อประมาณ 1 ชั่วโมง โดยใช้ไฟปานกลาง
- เมื่อข้นได้ที่เติมน้ำตาลทรายลงไป และใช้ไม้พายคนไปเรื่อย ๆ โดยใช้ไฟเบา ๆ
- คนจนแห้งเป็นผง วางไว้ให้อุ่นแล้วนำสมุนไพรที่ได้มาบดหยาบ ๆ จากนั้นใช้ตะแกรงร่อนเก็บไว้ในภาชนะที่มีฝาปิดสนิทหรือบรรจุซองเก็บไว้ใช้ชงดื่ม
- นำผงชาที่ได้ประมาณ 5 กรัม ผสมกับน้ำร้อน 1 แก้ว คนให้เข้ากันและดื่มเพื่อขับสารพิษออกจากร่างกาย
นอกจากที่กล่าวมาแล้วยังมีสูตรอื่น ๆ อีกมากมายที่นำชารางจืดไปใช้เป็นส่วนประกอบหลักในการทำเครื่องดื่มเพื่อขับสารพิษออกจากร่างกายหรือบรรเทาอาการเจ็บป่วยที่เกิดจากได้รับสารพิษ ซึ่งสามารถนำสูตรไปดัดแปลงให้เหมาะสมกับความต้องการของแต่ละคนได้ ทั้งนี้นอกจากคุณประโยชน์ที่สามารถช่วยขับพิษแล้ว ชารางจืดหากใช้ในปริมาณที่ไม่เหมาะสมก็อาจทำให้ส่งผลที่ไม่ดีต่อร่างกายเราได้ โดยชารางจืดจัดว่าเป็นยาเย็น
แนะนำว่าไม่ควรรับประทานติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยรับประทาน 1 วันต่อสัปดาห์ก็เพียงพอ และหากท่านที่มีโรคประจำตัวเป็นเบาหวาน ควรระมัดระวังในการดื่ม เพราะชารางจืดมีคุณสมบัติขับพิษ ช่วยลดน้ำตาล อาจจะส่งผลให้ผู้ป่วยเบาหวานเกิดภาวะน้ำตาลต่ำได้ และหากผู้ที่ใช้ยาอื่นร่วมในการรักษาด้วย ชารางจืดก็จะส่งผลให้ยาที่ใช้รักษาโรคเสื่อมประสิทธิภาพลงได้ เรียกได้ว่าชารางจืดมีทั้งประโยชน์และให้ผลข้างเคียงด้วยเช่นกัน