10 พืชผักสวนครัว สมุนไพรพื้นบ้าน ปลูกกินเองได้ง่าย ๆ ในสวนหลังบ้าน

Facebook

การกินผักนั้นให้ประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผักที่เป็นสมุนไพรต่าง ๆ แต่การที่เราไปซื้อจากตลาดบ่อย ๆ อาจจะต้องมาล้างให้สะอาด หรือต้องมาคอยกังวลว่าผักที่ได้มานั้นจะฉีดสารเคมี ใส่ยาฆ่าแมลงหรือเปล่า? รู้อย่างนี้แล้ว อะไรจะดีไปกว่า การได้ปลูกพืชผักสมุนไพรด้วยตัวเอง เพราะเราจะได้ทั้งผักที่สดใหม่ และสะอาดอย่างแน่นอน เอามาประกอบอาหารได้อย่างสบายใจ ได้ทั้งประโยชน์ และประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก ๆ เลย แค่มีที่นิด ๆ หน่อยข้างบ้าน หรือจะปลูกในกระถางริมระเบียงก็ยังได้ แต่การปลูกพืชผักสมุนไพรที่หลาย ๆ คนกังวลว่าจะปลูกไม่โต เพราะไม่มีความเชี่ยวชาญนั้นก็ไม่ต้องเป็นห่วง เพราะเราคัดมาให้แล้วเน้น ๆ กับสมุนไพรที่โตไวสุด ๆ กับ 10 พืชผักสวนครัว สมุนไพรพื้นบ้าน ปลูกกินเองได้ง่าย ๆ ในสวนหลังบ้าน

สมุนไพร ผักที่ใคร ๆ ก็ควรปลูก

สมุนไพร (Herb) คือพืชผักที่สามารถนำมาเป็นส่วนผสมทำเป็นยาได้ โดยต้องมีลักษณะที่ยังคงสภาพเดิม เช่น ราก ลำต้น ใบ ดอก ผล และเมื่อนำมาเป็นสินค้าสำหรับขายแล้วก็จะดัดแปลงได้ เช่น หั่นให้เล็กลง บดเป็นผงละเอียด อัดเป็นแท่ง โดยสมุนไพรจะช่วยรักษาโรค บำรุงร่างกาย หรือแม้กระทั่งใช้เป็นยาพิษได้ก็ได้เช่นกัน การปลูกและดูแลนั้นก็แสนจะง่ายดาย เพียงรดน้ำและให้ได้แสงแดดอย่างพอเพียง ปลูกในดินที่เหมาะสม มีการระบายน้ำที่ดี เพียงเท่านี้สมุนไพรต้นน้อย ๆ ก็จะเติบโตออกดอกออกผลได้อย่างสวยงาม รับรองเลยว่าคุ้มค่าที่ลงแรงไปแน่นอน! แต่ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกันก่อนว่า พืชที่เป็นสมุนไพรนั้นแบ่งออกเป็นประเภท ได้ดังนี้

  • ไม้ล้มลุก เช่น ฟ้าทะลายโจร ขิง ขมิ้น แมงลัก ว่านน้ำ ว่านหางจระเข้ หญ้าปักกิ่ง
  • ไม้พุ่ม เช่น หญ้าหนวดแมว เสลดพังพอนตัวผู้ มะแว้งต้น กระเจี๊ยบแดง พญายอ ทองพันช่าง
  • ไม้ต้น เช่น สะเดา ขี้เหล็ก ฝรั่ง มะขามแขก การบูร อบเชย กานพลู
  • ไม้เถา เช่น บอระเพ็ด อัญชัย บัวบก พลู มะแว้งเครือ หางไหลแดง

พืชผักสมุนไพรที่ปลูกง่าย โตเร็ว เหมาะสำหรับปลูกในบ้าน

สมุนไพรที่เป็นพืชผักพื้นบ้าน ที่ปลูกง่ายและนิยมใช้มาทำอาหารในครัวนั้น มีด้วยกันหลายชนิด ส่วนใหญ่คนไทยก็คุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เรามาดูกันว่ามีชนิดไหนน่าปลูกบ้าง

1. โหระพา (Basil)

พืชสมุนไพรกลิ่นหอม ที่มีกลิ่นเป็นเอกลักษณะเฉพาะตัว ใบของโหระพานั้นช่วยดับกลิ่นคาวได้ดี เป็นพืชที่ใช้ได้ทั้งการปรุงอาหาร หรือกินเป็นผักสด ๆ จัดเป็นพืชกลุ่มเดียวกับกะเพรา แมงลัก

สรรพคุณ

ใช้ประกอบอาหาร กินเป็นผักสด ๆ หรือนำไปสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหยและเครื่องสำอาง

การปลูก

วิธีเพาะเมล็ดจะได้ผลดีที่สุด ให้เราขุดดินลึก 15 – 20 เซนติเมตร โดยให้หน้าแปลงกว้างประมาณ 1 เมตร ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักลงหน้าแปลง จากนั้นขุดหลุมให้ลึกประมาณครึ่งหนึ่งของหน้าจอบ เว้นระยะห่างระหว่างหลุมประมาณ 30 เซนติเมตร ระหว่างแถวให้ห่าง 60 เซนติเมตร จากนั้นนำต้นกล้าโหระพาลงปลูก กลบดิน รดน้ำ

2. สะระแหน่ (Marsh Mint)

เป็นพืชล้มลุกที่มีอายุหลายปี สามารถปลูกลงดินหรือในกระถางก็ได้ ใบสะระแหน่มีความหอมมาก ๆ ใช้กินเป็นผักสด ๆ หรือเป็นผักแกล้ม เช่น ลาบ ก้อย พล่า จะช่วยดับกลิ่นคาวได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้น สะระแหน่ยังนำมาช่วยแต่งกลิ่น ให้อาหารประเภทยำให้หอมน่ากินมากขึ้น

สรรพคุณ

ทำให้ชุ่มคอ ขับลม ช่วยถอนพิษไข้ หากเกิดผื่นคันหรือมีอาการบวม สามารถนำมาตำแล้วพอกทา ก็จะช่วยให้อาการดีขึ้น นอกจากใช้ทำอาหารแล้ว ยังใช้สะระแหน่ประกอบเครื่องดื่มในประเภทค็อกเทล

การปลูก

นิยมปลูกโดยใช้วิธีปักชำ ให้เราเลือกกิ่งสะระแหน่ที่ขนาดกำลังพอดี ไม่แก่หรืออ่อนเกินไป นำไปปักลงแปลงเพาะ โดยการปักนั้นให้ปักในลักษณะเอน รดน้ำให้ชุ่ม จากนั้นให้โรยแกลบทับกลบหน้าดิน เพื่อให้หน้าดินชุ่มชื้น ไม่เกิน 4 – 5 วัน สะระแหน่ก็จะเริ่มแตกใบแตกยอดออกมา

3. กะเพรา (Holy Basil)

ผักยอดฮิตในเมนูยอดนิยมของคนไทย มีทั้งพันธุ์กะเพราขาว เขียว และแดง สำหรับกะเพราแดงจะมีก้านออกสีม่วงเข้มอมน้ำตาล กลิ่นหอมกว่ากะเพราอื่น ๆ การปลูกกะเพราใช้เวลาในการปลูกประมาณสองเดือนกว่า ๆ ก็สามารถเก็บมาทำอาหารได้แล้ว กะเพราเป็นพืชสมุนไพรที่เรียกน้ำย่อย เพราะมีกลิ่นและรสที่เผ็ดร้อนพอสมควร ส่วนมากจะใช้แต่งกลิ่นและดับคาว ใส่ได้ทั้งผัด ต้ม และแกง

8 สูตรผัดกะเพรา อาหารตามสั่งแบบประหยัดสำหรับมนุษย์เงินเดือน (น้อย)

สรรพคุณ

ใช้ทำอาหาร ช่วยทำยาแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ให้คุณค่าทางอาหาร มีเบต้าแคโรทีน แคลเซียม ฟอสฟอรัส จึงช่วยบำรุงกระดูกและฟันได้ดี นอกจากนั้น ยังนำมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย นิยมหยดลงในอ่างอาบน้ำ ช่วยให้มีกลิ่นหอมสดชื่น

การปลูก

โดยการหว่านเมล็ดในแปลงที่เตรียมไว้ แล้วใช้ฟางกลบ หรือใช้ปุ๋ยคอกโรยทับหน้าดิน รดน้ำด้วยฝักบัว ใช้เวลาประมาณ 7 วัน เมล็ดก็จะงอกขึ้นมา เมื่อต้นกล้ากะเพราอายุครบ 1 เดือน ก็ให้แยกออก และจัดต้นให้มีระยะห่างประมาณ 20 – 30 เซนติเมตร เมื่อโตเต็มที่ก็สามารถเก็บกินได้

4. ยี่หร่า (Shrubby Basil)

เป็นสมุนไพรขนาดเล็กถึงกลาง ที่สามารถเก็บกินได้ตลอดทั้งปี มีรสและกลิ่นแรง นิยมนำมาปรุงอาหารที่ต้องดับกลิ่นคาว เช่น ใส่ในแกงเนื้อ แกงอ่อม แกงคั่วหอยขม ใบยี่หร่าจะเผ็ดร้อนและช่วยลดกลิ่นคาวได้ดี หรือใช้กินเป็นผักสด ผักแกล้มอาหารรสจัด นอกจากนั้น เมล็ดของยี่หร่ายังนำมาใช้เป็นส่วนผสมในการทำเครื่องแกงได้อีกด้วย

สรรพคุณ

ช่วยขับเสมหะ ขับลม แก้ไข้ แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ มีไนอะซิน และกากใยอาหารสูง

การปลูก

ใช้ได้ดีทั้งวิธีเพาะเมล็ดและปักชำ ชอบดินร่วนปนทราย โตง่าย ใช้กิ่งชำปลูกในแปลงดินที่เตรียมไว้ โดยจัดให้มีระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 30 เซนติเมตร หรือใช้ปุ๋ยคอกโรยทับหน้าดิน รดน้ำด้วยฝักบัว

5. ขิง (Ginger)

สมุนไพรพื้นบ้านที่ขาดไม่ได้อีกชนิดหนึ่ง จะเติบโตได้ดีมากในฤดูฝน สามารถใช้ยอดอ่อนกินเป็นผักสดแกล้มอาหารรสจัดได้ เหง้าอ่อนก็นำมาปรุงอาหารได้เช่นกัน สามารถช่วยดับกลิ่นคาวได้ดีมาก ๆ โดยเฉพาะกลิ่นคาวปลา ทั้งใบและเหง้าของขิงจะมีรสเผ็ดร้อน ส่วนเหง้านั้นสามารถขุดมากินได้หลังจากแตกหน่อแล้ว 3 – 5 เดือน

สรรพคุณ

ช่วยขับลมในกระเพาะ แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ แก้เมารถ อาการปวดตามข้อ ไมเกรน และช่วยลดคอเลสเตอรอลด้วย รวมทั้งยังช่วยกันบูด และป้องกันกลิ่นเหม็นหืนได้

การปลูก

โดยวิธีปักชำ ด้วยการยกร่องปลูกให้ระบายน้ำได้ดี ระยะห่างของร่องปลูก 50 – 70 เซนติเมตร สูง 15 – 25 เซนติเมตร ให้นำเหง้าขิงแก่อายุ 10 – 12 เดือน วางในหลุมที่ขุดไว้ลึก 4 – 5 เซนติเมตร โดยให้มีระยะห่างแต่ละหลุมประมาณ 25 – 35 เซนติเมตร ก็พอ

6. ข่า (Greater Galangal)

พืชสมุนไพรคู่ครัวที่ทุกบ้านต้องมีติดไว้ ต้นข่ามีใบสวยงาม สามารถนำมาปลูกประดับเป็นไม้ริมรั้วก็ได้ เหง้าข่านำมาใส่แกง หรือต้มส้ม ต้มยำ ช่วยดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ ข่าช่วยเพิ่มรสให้แกงมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ส่วนข่าอ่อนและดอกข่าจะมีรสเผ็ดซ่า นำมาทำต้มกะทิ หรือกินเป็นผักสด

รวมเมนูอาหาร สูตรอาหาร ข่า ทำง่ายๆ ได้ที่บ้าน

สรรพคุณ

ช่วยขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด

การปลูก

นิยมปักชำโดยใช้เหง้าที่แก่จัด ก่อนนำลงดินให้ล้างเหง้าข่าให้สะอาด เมื่อปลูกแล้วให้ใช้ใบไม้แห้งกลบไว้ เพื่อรักษาความชื้นของหน้าดิน โดยกลบให้นูนพองขึ้นมามาก ๆ เพราะหลังจากรดน้ำแล้ว ใบไม้จะยุบตัวลงไปอีกนั่นเอง

7. ตะไคร้ (Lemongrass)

เป็นพืชผักสวนครัวยอดนิยมที่ต้องมีทุกบ้านเช่นกัน ตะไคร้เป็นพืชตระกูลหญ้า มีลักษณะขึ้นเป็นกลุ่มกอ จะพบได้ทุกภาคในประเทศไทย ตะไคร้เป็นทั้งสมุนไพรและผักสวนครัว ที่ใช้ในการประกอบอาหาร ทั้งแกงหรือต้มยำ ช่วยดับกลิ่นคาว และช่วยให้อาหารมีกลิ่นหอม

สรรพคุณ

แก้จุกเสียดแน่นท้อง ช่วยลดการบีบตัวของลำไส้ และกลิ่นหอมของตะไคร้ยังช่วยไล่ยุงได้ดีอีกด้วย

ตะไคร้หอม สมุนไพรไล่ยุง บำรุงร่างกาย

การปลูก

โดยการปักชำ ให้เตรียมดินด้วยการไถพรวนตากแดดไว้ประมาณ 7 – 10 วัน จากนั้นโรยปูนขาวเพื่อปรับสภาพดิน และขุดหลุมเตรียมปลูก ขนาด 25 x 25 x 25 เซนติเมตร ใส่ปุ๋ยคอกรองก้นหลุม เว้นระยะห่างระหว่างหลุม 1 เมตร ปักเหง้าให้เอียง 45 องศา ลึกลงไปในดินประมาณ 5 เซนติเมตร ปักหลุมละ 2 ต้น เมื่อกลบเสร็จแล้วรดน้ำให้ชุ่ม

8. ช้าพลู หรือชะพลู (Wild Betal Leaf)

เป็นพืชผักสมุนไพรอีก 1 ชนิด ที่ปลูกง่ายเลี้ยงง่าย นิยมปลูกเป็นพืชคลุมดินด้วยเช่นกัน ใบชะพลูมีกลิ่นหอม ออกรสเผ็ดนิด ๆ นิยมกินเป็นผักสด ๆ เช่น ห่อเมี่ยงคำ กินกับลาบ ส้มตำ ขาวยำ แกงคั่วต่าง ๆ และใส่ในแกงเผ็ดเพื่อดับกลิ่นคาว เช่น แกงคั่วหอยขม แกงอ่อม แกงเนื้อ

สรรพคุณ

ช่วยเจริญอาหาร ขับเสมหะขับลม บำรุงธาตุ ชะพลูมีสารต้านมะเร็ง มีแคลเซียมออกซาเลตสูง หากกินคู่กับเนื้อสัตว์จะช่วยป้องกันนิ่วในไตได้ดี

การปลูก

ใช้วิธีปักชำจะได้ผลดีที่สุด ให้เราเด็ดยอดชะพลูที่มีใบมาด้วยประมาณ 2 – 3 ใบ แล้วนำไปปักในกระถางด้วยดินร่วนซุยที่เตรียมไว้ ให้มีระยะห่างแต่ละต้น 10 – 15 เซนติเมตร รดน้ำพรวนดินวันละ 1 ครั้ง เมื่อออกรากและโตภายใน 1 – 2 เดือน แล้วจึงย้ายลงแปลงดิน

9. ถั่วพู (Gon Bean)

เป็นพืชผักสมุนไพรที่กินได้เกือบทั้งต้น ตั้งแต่ยอดและดอกใช้ทำแกงส้มหรือต้มจืด ฝักกินสด ๆ หรือนำมาลวกจิ้มน้ำพริก หรือนำมาทำเป็นยำถั่วพู อาหารยอดนิยม ที่คนไทยกินกันมาก ส่วนหัวแก่ ๆ ก็สามารถนำมาเชื่อมหรือเผากินได้เหมือนมันเทศ

สรรพคุณ

ถั่วพูอุดมไปด้วยแคลเซียม วิตะมินเอ วิตะมินบี 1 วิตะมินซี มีโปรตีนสูง ช่วยบำรุงกำลัง แก้ปวดเมื่อย แก้อาการอ่อนเพลีย แก้ตัวร้อนลดไข้

การปลูก

ใช้วิธีเพาะเมล็ด โดยนำไปแช่ในน้ำอุ่นแล้วนำผ้าขาวบางมาห่อเมล็ดไว้ในที่มีความชื้น ประมาณ 3 วัน เตรียมดิน ยกร่องใส่ปุ๋ยคอกรองพื้นหลุม ให้ระหว่างแถวห่างกัน 2 เมตร ระหว่างหลุม 1 เมตร แล้วนำค้างไม้มาปักไว้ เพื่อให้ถั่วพูเลื้อยพันแต่ละหลุม ใส่เมล็ดไป 2 – 3 เมล็ด ประมาณ 5 วัน จะเริ่มงอกออกมา จากนั้น 2 เดือนกว่า ๆ ก็เก็บกินได้แล้ว

10. สะเดา (Siamese Neem Tree)

ต้นสะเดาเทียม ไม้เศรษฐกิจโตเร็ว สรรพคุณ การปลูก พร้อมแหล่งจำหน่าย

สะเดานั้นนิยมปลูกเป็นต้นไม้ประดับบ้านด้วยอยู่แล้ว ยอดและช่อดอกอ่อน ๆ นำมากินสด ๆ หรือลวกกินกับน้ำปลาหวาน ปลาดุกยาง ลวกกินกับน้ำพริก หรืออาหารรสจัดได้ สะเดาจะมีรสขม หากลวกในน้ำต้มเดือดจัด หรือย่างไฟให้สลด จะช่วยลดความขมได้ สะเดาจะออกดอกเฉพาะช่วงปลายหน้าหนาว ย่างเข้าหน้าร้อน

สรรพคุณ

ช่วยบำรุงน้ำดี ช่วยเรียกน้ำย่อย มีแคลเซียส ธาตุเหล็ก วิตะมินเอ วิตะมินซี ไนอะซิน และใยอาหารสูง

การปลูก

ด้วยการเพาะเมล็ด ให้เราขุดหลุมพอประมาณ แล้วตากดินทิ้งไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ ใส่ปุ๋ยร็อคฟอสเฟสรองก้นหลุม กะประมาณครึ่งกระป๋องนม นำกล้าที่ได้จากการเพาะเมล็ด อายุ 4 – 5 เดือน ลงปลูกแล้วกลบ

กระแสใส่ใจดูแลสุขภาพกำลังมาแรง ทำให้คนหันมานิยมปลูกผักกินเองเพิ่มมากขึ้น ยิ่งสถานการณ์โควิด-19 ที่เราต้องดูแลตัวเองกันมากยิ่งขึ้นแล้ว หลายคนต้อง Work From Home อยู่กับบ้าน การปลูกพืชผักสมุนไพรจึงเป็นทางเลือกที่ดีและมีประโยชน์ เพราะสมุนไพรแต่ละชนิดที่เราคัดมาแนะนำนั้น ปลูกง่าย ดูแลง่าย และโตเร็ว อีกทั้งการปลูกผักเองนั้น ยังได้ความเพลิดเพลิน อุ่นใจว่าผักหรือสมุนไพรของเรานั้น ปลอดภัยจากสารเคมีแน่นอน อ่านจบแล้วก็อยากชวนให้มาปลูก 10 พืชผักสวนครัว สมุนไพรพื้นบ้าน ปลูกกินเองได้ง่าย ๆ ในสวนหลังบ้านกันเลย