ไม้เลื้อย

รวม 12 พันธุ์ไม้เลื้อยแต่งห้องที่ทุกคนต้องห้ามพลาด

Facebook

คนรักต้นไม้ต่างรู้ดีว่าความรู้สึกใจฟูเวลาซื้อต้นไม้ใหม่ ๆ หรือการได้เห็นต้นไม้เติบโตอย่างสวยงามนั้นเป็นอย่างไร แต่จักรวาลต้นไม้นั้นกว้างใหญ่เกินกว่าที่คน ๆ หนึ่งจะศึกษาและเรียนรู้วิธีดูแลได้หมด เพราะพันธฺุ์ไม้มีหลากหลายมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นไม้ดอกไม้ประดับ กระบองเพชร ไม้ในร่มหรือไม้กลางแจ้ง รวมไปถึงไม้เลื้อยทีใน่วันนี้เราจะยกมาพูดถึงในบทความนี้กันด้วย ซึ่งแน่นอนว่าไม้เลื้อยเป็นอีกพันธุ์ไม้ที่คนเริ่มหันมาให้ความสนใจมากขึ้นเพราะนอกจากจะใช้ตกแต่งห้องให้บรรยากาศดีแล้วยังเป็นไม้ที่ปลูกได้ง่าย ไม่ต้องอาศัยการดูแลที่ยุ่งยากอะไรจึงเป็นตัวเลือกที่ดีให้กับสายแต่งห้องเลยทีเดียว

ไม้เลื้อย

ความแตกต่างของไม้เลื้อยและไม้ประดับทั่ว ๆ ไป คือ ไม้ประดับทั่ว ๆ ไปนั้นสามารถตั้งตรงได้ด้วยตัวเองโดยไม่จำเป็นต้องมีสิ่งยึดเกาะ แต่สำหรับไม้เลื้อยนั้นจำเป็นต้องยึดเกาะเพื่อให้พยุงตัวและเติบโตได้ ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่าการปลูกไม้เลื้อยเป็นที่นิยมปลูกเพื่อทำซุ้มบังแดด ปลูกประดับผนัง กำแพง หรือแม้แต่ปลูกเพื่อช่วยกรองฝุ่นละอองและมลพิษต่าง ๆ โดยข้อดีของการปลูกไม้เลื้อยนั้นคือการดูแลง่าย ไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่ในการปลูกมากนักอีกทั้งยังสามารถปลูกเพื่อเป็นไม้ฟอกอากาศได้อีกด้วย มาดูกันว่า Kaset today มีข้อมูลอะไรที่น่าสนใจมากฝากกันบ้าง

ทำความรู้จักกับพันธุ์ไม้เลื้อยที่น่าสนใจ

ไม้เลื้อย เป็นพืชในกลุ่มต้นไม้ที่มีเนื้อไม้อ่อนไม่สามารถทรงตัวได้เองตามลำพัง จึงต้องเลื้อยพันกับสิ่งที่อยู่ใกล้ ๆ ในการพยุงตัว ไม่ว่าจะเป็นกำแพง ไม้ค้ำยันหรือซุ้มเพื่อเกาะพยุงให้ลำต้นเติบโตอยู่ได้ โดยจะมีอวัยวะที่ช่วยในการยึดเกาะ เช่น ราก มือเกาะหรือขอเกี่ยว เป็นต้น

รูปแบบการเจริญเติบโตของไม้เลื้อยนั้น แน่นอนว่าตามชื่อของมัน คือโตแบบเลื้อย พัน เกาะ กลไกการเจริญเติบโตของไม้เลื้อยนั้นแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ

  1. เลื้อยเบนเข้าหาแสง: เป็นรูปแบบการเลื้อยเข้าหาแสงแดดได้ด้วยการใช้พลังงานน้อยที่สุด ซึ่งการเจริญเติบโตของไม้เลื้อยนั้นจะเป็นการเติบโตแบบยืดยาวเข้าหาแสงแทนที่จะใช้พลังงานจำนวนมากในการสร้างเนื้อไม้ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อที่ใช้เป็นโครงสร้างในการทรงตัว
  2. เลื้อยเบนออกจากแสง: กลไกการเลื้อยประเภทนี้ จะพยายามงอกไปยังทิศทางที่ไม่มีแสง โดยกิ่งก้านจะงอกไปถึงโคนต้นไม้และปีนขึ้นไปบนยอดไม้ที่สว่างกว่าอย่างรวดเร็ว

ไม้เลื้อยนั้นสามารถรับประโยชน์ได้จากสภาพแวดล้อม 2 แบบ คือ รับประโยชน์จากการหยั่งรากลงดินในพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์เป็นหย่อม ๆ บริเวณที่มีดินน้อหรือไม่มีเลย อีกทั้งยังสามารถรับประโยชน์จากแสงสว่างโดยใบจะเจริญเฉพาะในบริเวณที่โล่งหรือมีแสงแดดส่องถึงเป็นช่วง ๆ ได้

ไม้เลื้อย

การแบ่งชนิดของไม้เลื้อย

การแบ่งชนิดของไม้เลื้อยนั้นสามารถแบ่งได้ตามหลากหลายเกณฑ์ โดยนาคร นิปริยาย กล่าวว่าการแบ่งชนิดไม้เลื้อยนั้นสามารถแบ่งได้ตามอายุ ตามลักษณะเนื้อไม้หรือตามลักษณะการเลื้อย โดยในบทความนี้เราจะเน้นไปที่การจำแนกชนิดตามลักษณะการเลื้อย ซึ่งไม้เลื้อยมีลักษณะการเลื้อยและการยึดเกาะที่แตกต่างกันและสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ลักษณะ ดังนี้

การเลื้อยพันแบบพาดพิง

พืชที่มีลักษณะการเลื้อยแบบพาดพิง จะเป็นพืชที่เป็นกลุ่มไม้พุ่มกึ่งไม้เลื้อยที่ต้นมีการแตกกิ่งก้านยาวแล้วเอนไปพาดพิงกับวัตถุต่าง ๆ พรรณไม้ที่มีการเลื้อยพันแบบพาดพิง ได้แก่ ต้นเฟื้องฟ้า ต้นสายหยุด ต้นมะลิ ต้นช้องนาง เป็นต้น

การเลื้อยพันแบบขัดสาน

ส่วนไม้เลื้อยที่มีลักษณะการเลื้อยพันแบบขัดสาน เมื่อไม่มีวัตถุมารองรับให้เกาะเกี่ยวไม้จะเลื้อยเกี่ยวพันกันเองเพื่อพยุงลำต้นขึ้นรับแสง ไม้เลื้อยที่มีการเลื้อยพันแบบขัดสานนี้ ได้แก่ ต้นเล็บมือนาง ต้นการเวก ต้นบานบุรีม่วง ต้นบานบุรีหอม เป็นต้น

การเลื้อยพันแบบเกาะเกี่ยว

สำหรับไม้เลื้อยที่มีการเลื้อยพันแบบเกาะเกี่ยว ได้แก่ เถาองุ่น มะลิ อัญชัน มีอวัยวะพิเศษที่ใช้ช่วยในการยึดเกาะกับวัตถุต่าง ๆ เช่น 

  • ใช้ยอดพันพยุงเพื่อเลื้อพันวัตถุต่าง ๆ
  • ใช้รากพิเศษตามข้อปล้องหรือลำต้นในการยึดเกาะ 
  • ใช้มือพันหรือรยางค์ที่เปลี่ยนรูปมาจากใบ มีลักษณะเป็นเส้นเล็ก ปลายม้วนงอ พบได้ตามซอกใบและปลายยอด
  • ใช้ตะขอเกี่ยวพยุงที่เปลี่ยนรูปมาจากก้านช่อดอก มีลักษณะคล้ายหนาม แต่ใหญ่กว่าและโค้งกว่า
  • ใช้ปุ่มยึดที่เปลี่ยนรูปมาจากมือพันหรือรากพิเศษ พบในไม้ที่พันเลื้อยบนวัตถุที่เรียบทึบ เช่น กำแพง
  • ใช้ปลายใบที่เปลี่ยนเป็นมือจับซึ่งยืดเป็นเส้นยาวม้วนงอใช้ยึดเกาะ
  • ใช้ก้านใบที่มีความยาว บิดโค้งงอในการเกาะสิ่งพยุงหรือเกี่ยวพันตัวเอง
  • ใช้หนามที่บริเวณข้อหรือโคนก้านใบ ส่วนปลายหนามอาจโค้งงอเพื่อใช้ในการยึดเกาะ

นอกจากนี้ทิศทางการของปลายยอดขณะเลื้อยนั้นมีทั้งแบบหมุนเลื้อยตามเข็มนาฬิกาและหมุนเลื้อยทวนเข็มนาฬิกา โดยลักษณะการเลื้อยนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านการไล่ตามแสงแดดหรือในบริเวณที่พืชเติบโตแต่อย่างใด แต่ขึ้นอยู่กับตัวมันเองล้วน ๆ

แนะนำพันธุ์ไม้เถาเลื้อย ดูแลง่าย ปลูกได้ในที่ร่ม

ไม้เลื้อย เดฟกระดุม

1) เดฟกระดุม

เป็นไม้เลื้อยขนาดเล็กที่ออกใบเรียงกันเป็นคู่ ๆ ดูน่ารัก ลักษณะใบมีความกลมคล้ายเม็ดกระดุม และออกดอกขนาดเล็กเป็นช่อกระจุกตามซอกใบ ก้านจะมีความยาวเลื้อยลงมา จึงเหมาะกับการนำมาปลูกเป็นต้นไม้เลื้อยแบบแขวนตามหน้าต่างหรือบริเวณชานบ้าน

วิธีปลูก: เดฟกระดุมควรปลูกในวัสดุปลูกเช่น กาบมะพร้าว ที่สามารถระบายน้ำแต่ยังคงกักเก็บความชุ่มชื้นได้ดี และต้องไม่แฉะหรือมีน้ำขัง การรดน้ำให้ต้นเดฟกระดุมให้รด 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ก็เพียงพอแล้ว และแนะนำให้ตั้งวางไว้หรือแขวนในบริเวณที่แสงแดดส่องถึงแบบรำไร

เดฟหัวใจ

2) เดฟหัวใจ

เดฟหัวใจมีลักษณะคล้ายคลึงกับเดฟกระดุม คือมีใบเล็ก แต่ลักษณะใบเป็นรูปหัวใจเลื้อยได้ไกล 1-2 เมตร จึงเหมาะกับการนำมาใส่กระถางแขวน ต้นเดฟหัวใจมีน้ำยาง และออกดอกกึ่งช่อที่บริเวณก้านใบ โดยดอกเป็นสีขาวและมีขนาดเล็ก

วิธีปลูก: เดฟหัวใจควรปลูกในวัสดุปลูกที่ระบายน้ำได้ดีเหมือนเดฟกระดุม คือควรปลูกในกาบมะพร้าว ต้นเดฟหัวใจชอบน้ำมาก จึงควรรดน้ำบ่อย ๆ ประมาณวันละ 1-2 ครั้ง และควรตั้งหรือแขวนไว้ในบริเวณที่แสงแดดส่องถึงแบบรำไร

ตีนตุ๊กแก
https://www.gangbeauty.com

3) ตีนตุ๊กแก

ต้นตีนตุ๊กแก เป็นไม้เลื้อยที่คนไทยนิยมปลูกที่ประดับตกแต่งผนังบ้าน ลักษณะของต้นจะมีรากเล็ก ๆ ออกมาตามข้อเพื่อใช้ในการยึดเกาะผนัง ลักษณะใบเป็นใบสลับ รูปใบคล้ายรูปหัวใจ มีปุ่มเล็ก ๆ คล้ายตีนตุ๊กแก และยังออกดอกสีเหลืองและสีขาวตลอดทั้งปี

วิธีปลูก: ต้นตีนตุ๊กแกเป็นไม้เลื้อยที่ชอบแดด ชอบน้ำ และชอบความชื้น จึงแนะนำให้รดน้ำวันละครั้ง การปลูกต้นตีนตุ๊กแกให้ปลูกใกล้ผนังหรือโครงเหล็ก โดยปลูกให้ต้นห่างกันประมาณ 50 เซนติเมตร 

เฟิร์นบอสตัน

4) เฟิร์นบอสตัน

เฟิร์นบอสตันเป็นพืชที่อยู่คู่โลกมาอย่างยาวนานตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ ปัจจุบันเป็นพืชที่นิยมนำมาปลูกประดับทั้งในและนอกอาคาร มีลักษณะก้านใบแข็ง โค้งออก และทิ้งตัวลง ต้นที่มีอายุมากมักมีใบหนาทึบ นิยมปลูกในกระถางแขวนหรือตามซอกหิน

วิธีปลูก: เฟิร์นบอสตันเป็นพืชที่ต้องการการเอาใจใส่พอสมควร เพราะเป็นพืชที่ชอบความชุ่มชื้นสูง ควรหมั่นรดน้ำประมาณ 1-2 ครั้ง และฉีดสเปรย์ละอองน้ำที่บริเวณใบอย่างสม่ำเสมอ เพราะหากเฟิร์นบอสตันขาดน้ำจะทำให้ใบเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและร่วง

สายป่านดวงใจใบเงิน

5) สายป่านดวงใจใบเงิน

สายป่านดวงใจใบเงินเป็นไม้ขนาดเล็ก ลำต้นมีสีม่วงแดง และมีรากสะสมอาหารเป็นหัวเล็ก ๆ ลักษณะของใบเป็นรูปทรงหัวใจรี ๆ ปลายใบแหลม มีสีเขียวคล้ำ และมีลายสีเงินคล้ายหินอ่อน นิยมปลูกเป็นไม้กระถางแขวนเพื่อประดับตกแต่งบ้าน

วิธีปลูก: ต้นสายป่านดวงใจใบเงินเป็นพืชที่โตช้าและค่อนข้างดูแลยาก ควรปลูกในวัสดุปลูกที่ระบายน้ำและกักเก็บความชุ่มชื้นได้ดี ต้องการน้ำปานกลาง จึงควรรดน้ำประมาณ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ และควรได้รับแสงแดดประมาณครึ่งวัน

สร้อยเงินสร้อยทอง

6) สร้อยเงินสร้อยทอง

ต้นสร้อยเงินสร้อยทอง ถือเป็นไม้มงคลขนาดเล็กที่นิยมเลี้ยงในที่ร่มและวางบนโต๊ะทำงาน ใบมีสีเขียวเล็ก ๆ ดูหนาแน่น ลำต้นค่อนข้างอ้วนและเติบโตช้า เมื่อต้นเริ่มโตขึ้นหากนำมาใส่กระถางแขวน จะได้ต้นที่ดูสวย เหมาะกับการนำมาประดับบ้าน 

วิธีปลูก: ต้นสายป่านดวงใจใบเงิน เป็นพืชที่ไม่ได้ต้องการแสงแดดมากนัก จึงสามารถเติบโตได้ดีแม้วางในที่ร่ม แต่เป็นพืชที่ชอบน้ำและความชื้นที่พอเหมาะไม่ควรให้ดินชื้นเกินไป เพราะอาจทำให้รากเน่าได้ ปริมาณการรดน้ำที่แนะนำคือวันละ 1-2 ครั้ง

พลูด่าง

7) พลูด่าง

พลูด่างเป็นไม้เลื้อยที่มีลักษณะลำต้นกลมและแบ่งเป็นข้อ ๆ ทรงใบคล้ายหัวใจมีลักษณะหนาและอวบน้ำ สีของใบมีทั้งแบบที่เป็นสีเดียวหรือสีด่าง มีรากอากาศที่ใช้สำหรับยึดติด นิยมนำมาปลูกใส่กระถางหรือแจกันให้ใบห้อยลงมา หรือปลูกในกระถางแขวนประดับทั้งในและนอกอาคาร

วิธีปลูก: ต้นพลูด่างเป็นไม้เลื้อยยอดนิยมที่ปลูกง่าย โตไว และไม่ต้องการการเอาใจใส่ดูแลมากนัก สามารถปลูกได้ทั้งในดินและในน้ำ แต่ถ้าปลูกในน้ำจะโตช้ากว่าและต้องเปลี่ยนน้ำสัปดาห์ละครั้ง ส่วนการปลูกต้นพลูด่างในดินควรรดน้ำ 2-3 วันต่อครั้ง

สร้อยนางกรอง
https://data.addrun.org

8) สร้อยนางกรอง

สร้อยนางกรองเป็นพืชที่มีลักษณะคล้ายต้นเฟิร์น เป็นพืชใบเดี่ยวที่เรียงเวียนสลับเป็นระเบียบแนบไปกับลำต้น ใบเป็นรูปหอก ปลายแหลม โคนต้นมีใบปกคลุมและเติบโตได้ดีบนพืชชนิดอื่น

วิธีปลูก: ต้นสร้อยนางกรองนิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับแขวน ชอบแสงแดดปานกลาง แนะนำให้ปลูกในดินร่วนที่ระบายน้ำได้ดี ต้องการน้ำมาก จึงควรรดน้ำวันละครั้ง

ช้องนางคลี่

9) ช้องนางคลี่

ต้นช้องนาลคลี่มีลักษณะคล้ายเฟิร์นและต้นสร้อยนางกรอง ลำต้นมีความอวบน้ำ ยาวได้ถึง 70 เซนติเมตร ใบมีความแน่น ปลายแหลมและมีขนาดเล็กเป็นสีเขียวสดเป็นมันเรียงสลับกัน ลักษณะใบเป็นรูปรีหรือรูปหอก นิยมนำมาปลูกเป็นไม้แขวน

วิธีปลูก: การปลูกต้นช้องนางคลี่ควรปลูกในกระถางที่มีรูเปิดระบายน้ำที่ก้นกระถาง จากนั้นใช้กาบมะพร้าวแห้งหรือเฟิร์นแห้งอัดให้แน่น รดน้ำประมาณวันละ 1-2 ครั้ง เช้าเย็น

เฟิร์นโปร่งฟ้า
https://www.naibann.com

10) เฟิร์นโปร่งฟ้า

ต้นโปร่งฟ้าเป็นไม้เลื่อยที่นิยมมาตกแต่งช่อดอกไม้ แจกัน หรือซุ้มต่าง ๆ ลำต้นมีลักษณะเป็นกิ่งแตกแขนง มีหนามโค้งงอ และใบมีลักษณะเป็นแผงจากโคนใบปลายเรียวแหลม ใบมีสีเขียวเข้ม ส่วนดอกมีสีขาว ผลมีขนาดเล็กและกลมดำ

วิธีปลูก: การรดน้ำต้นโปร่งฟ้าควรรดน้ำประมาณ 1-2 ครั้งต่อวัน อีกทั้งยังเป็นพืชที่ต้องการแสงมาก จึงควรตั้งไว้ในที่ที่แสงแดดส่องถึงมากพอสมควร เมื่ออากาศแห้งควรสเปรย์ฉีดพรมเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น

ต้นน้ำตกสีเงิน

11) น้ำตกสีเงิน

เป็นต้นไม้เลื้อยขนาดเล็ก มีใบหนาฟูสีเงินขนาดเล็กดูสวยงาม ผิวของใบมีเนื้อสัมผัสที่นิ่มเหมือนกำมะหยี่ เมื่อกิ่งก้านยาวเลื้อยออกมาจะมีลักษณะคล้ายกับน้ำตก นิยมนำมาปลูกใส่กระถางยาว ๆ แล้วนำไปแขวนเรียงกัน จะได้ความรู้สึกเหมือนม่านน้ำตก

วิธีปลูก: ต้นน้ำตกสีเงินนี้สามารถอยู่และเติบโตได้ในสภาพแสงแดดรำไร แต่แนะนำให้พาออกไปตากแดดบ้างบางครั้ง เป็นต้นไม้ที่ชอบน้ำปานกลาง จึงแนะนำให้รดน้ำประมาณ 3-4 วันต่อครั้ง

ต้นสร้อยไข่มุก

12) สร้อยไข่มุก

ต้นสร้อยไข่มุกเป็นไม้อวบน้ำ กิ่งก้านเจริญห้อยระย้าออกมาดูเหมือนสร้อย ใบเป็นทรงปุ่มกลม ๆ อวบน้ำเหมือนไข่มุก จึงเรียกไม้เลื้อยนี้ว่าสร้อยไข่มุก ในช่วงหน้าหนาวที่อากาศค่อนข้างแห้งและเย็น สร้อยไข่มุกอาจออกดอกเป็นสีขาว ซึ่งดูสวยน่ารักมาก ๆ

วิธีปลูก: แนะนำให้วางหรือแขวนกระถางต้นสร้อยไข่มุกไว้ในบริเวณที่ที่มีแสงแดดส่องถึง แต่ไม่ต้องโดนแสงแดดโดยตรงเพราะอาจไหม้ได้ ต้นสรอ้ยไข่มุกเป็นพืชไม้เลื้อยที่ไม่ค่อยชอบน้ำ จึงไม่ต้องรดน้ำบ่อย รดแค่สัปดาห์ละครั้งหรือ 2 สัปดาห์ครั้งก็เพียงพอ และต้องระวังไม่ให้ดินแฉะจนเกินไปด้วย

การดูแลไม้เลื้อยให้สวยงามสม่ำเสมอ

และเมื่อตัดสินใจที่จะปลูกไม้เลื้อยแล้วก็เชื่อว่าหลาย ๆ คนกำลังมองหาวิธีการดูแลไม้เลื้อยที่ได้ลงทุนลงแรงปลูกมาเป็นอย่างดีให้ดูสวยงามอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม้เลื้อยในร่มที่กำลังเป็นที่นิยมในหมู่ชาวคอนโดหรือผู้ที่อาศัยในห้องพักที่มีพื้นที่ไม่มากนักในการปลูกต้นไม้

ไม้เลื้อย

สถานที่ที่เหมาะแก่การปลูกไม้เลื้อย

ไม้เลื้อยนั้นมีตั้งแต่สายพันธุ์ที่ชอบแดด (ซึ่งแนะนำให้ปลูกกลางแจ้ง) หรือสายพันธุ์ที่สามารถปลูกในร่มได้ (ซึ่งเหมาะกับผู้ที่อาศัยอยู่ในคอนโดหรือห้องพัก) สำหรับไม้เลื้อยในร่มนั้นปลูกได้ในกระถางและสามารถตั้งกระถางไว้ภายในห้องได้เลย แต่ควรหาวัตถุให้ไม้เลื้อยยึดเกาะเพื่อให้เจริญเติบโตได้ดี เช่น ซุ้มเล็ก ๆ ไม้ค่ำยันหรือผนัง เป็นต้น แต่สำหรับใครที่มีระเบียงก็สามารถปลูกไม้เลื้อยที่ชอบแดดไว้ที่ระเบียงได้ โดยให้ไม้เลื้อยไปตามกำแพงหรือตามระเบียงได้แล้วแต่ความสะดวก

แสงที่เหมาะสม

ไม้เลื้อยชื่นชอบแสงแดดในปริมาณที่แตกต่างกัน แต่ไม้เลื้อยในร่มจะชอบแสงแดดกลาง ๆ และชอบความชื้นในระดับปานกลาง ยิ่งไม้เลื้อยได้รับแสงแดดอย่างสม่ำเสมอในปริมาณที่เหมาะสมเท่าไหร่ก็จะยิ่งดูสวยมากขึ้นเท่านั้น

การรดน้ำ

การรดน้ำไม้เลื้อยที่ปลุกในร่มนั้นแตกต่างกันไปตามแต่ละสายพันธุ์และสภาพอากาศ โดยทั่ว ๆ ไปแนะนำให้รดน้ำประมาณ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ในช่วงหน้าร้อน แต่เมื่อเริ่มเข้าหน้าหนาวก็อาจลดปริมาณการลดน้ำลง โดยให้เหลือ 1-2 ครั้ง ในทุก ๆ 10-15 วัน

วิธีการให้ปุ๋ย

เพื่อให้ไม้เลื้อยเจริญเติบโตได้ดีและได้สารอาหารอย่างครบถ้วน ควรให้ปุ๋ยประมาณปีละ 1 ครั้ง วิธีการให้ปุ๋ย คือ ใส่ปุ๋ยบริเวณรอบ ๆ โคนต้นและรดน้ำ ช่วงที่เหมาะกับการให้ปุ๋ยมากที่สุด คือ ช่วงฤดูร้อน เพราะเป็นช่วงที่ต้นไม้เติบโตได้ดี

การตัดแต่ง

คุณสามารถตัดแต่งกิ่งของไม้เลื้อยได้เมื่อต้องการควบคุมการเจริญเติบโต หรือเมื่อไม่ต้องการให้ต้นไม้เลื้อยยาวมากจนเกินไป ช่วงเวลาที่แนะนำให้ตัดคือช่วงหน้าร้อน เพราะเป็นช่วงที่ต้นไม้เติบโตได้ดีและสามารถซ่อมแซมตัวเองได้ไวกว่าในช่วงหน้าหนาว

การตัดแต่งไม้เลื้อยนั้นสามารถทำได้โดยการตัดที่บริเวณกิ่งก้าน โดยการนับตาของไม้เลื้อยประมาณ 4-5 ตาจากปลายก้าน และตัดให้ห่างจากตาประมาณครึ่งเซนติเมตร แต่ใน​​กรณีที่มีหน่ออ่อนที่ปลายก้าน แนะนำให้ตัดหน่ออ่อนออกก่อน แล้วค่อยนับตาจากจุดที่ตัดออกไป

จะเห็นได้ว่าไม้เลื้อยไม่เพียงแต่เป็นไม้ที่ช่วยประดับตกแต่งผนังกำแพง มุมบ้านหรือระเบียงบ้านเท่านั้น แต่ข้อที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งในชีวิตคนกรุง คือ ช่วยฟอกอากาศและดูดซับมลพิษในอากาศ ไม้เลื้อยบางสายพันธุ์นั้นยังปลูกง่าย ใช้การการดูแลที่ไม่ยุ่งยากวุ่นวายจึงเหมาะมาก ๆ สำหรับมือใหม่ที่อยากปลูกต้น ดังนั้น Kaset today ก็หวังว่าข้อมูลพันธุ์ไม้เลื้อยที่เรายกมาแนะนำวันนี้จะถูกใจใครหลาย ๆ คนและอยากลองไปซื้อมาปลูกแต่งห้องกัน

แหล่งที่มา
ไม้เลื้อย, ชีววิทยาประยุกต์