โรคใบด่าง ภัยร้ายจากไวรัสที่ยังจัดการกับเชื้อโดยตรงไม่ได้

อันที่จริงลักษณะใบด่างของพืชนั้นมีสาเหตุค่อนข้างหลากหลาย มีทั้งแบบที่เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมและเกิดจากสภาพแวดล้อมในการเพาะปลูกไม่เหมาะสม อย่างเช่นปริมาณแสงแดดมากหรือน้อยเกินไป และการขาดสารอาหารบางตัวที่มีผลต่อเม็ดสี แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้สร้างความเสียหายเหมือนอาการใบด่างที่จัดว่าเป็นโรคพืช ซึ่งเป็นโรคที่ไม่ได้มีผลแค่ทำให้บางส่วนของใบเปลี่ยนสีไปเท่านั้น แต่มันยังทำให้เกิดการเสียรูปทรง พร้อมกับชะลอการเจริญเติบโตของพืชอย่างเห็นได้ชัด มีพืชผลและพืชไร่หลายชนิดในภาคการเกษตรได้รับความเสียหายจากโรคใบด่างเป็นจำนวนมากในทุกๆ ปี หากไม่ได้รับการป้องกันและแก้ไขที่ดีพอก็ไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งเคยมีสถิติความเสียหายในกลุ่มมันสำปะหลังสูงถึง 100 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

โรคใบด่าง มะเขือเทศ
photo by เกษตร อินเตอร์เชียงใหม่

อาการของโรคใบด่าง

ตามที่ได้ยกตัวอย่างของโรคใบด่างในพืชบางชนิดไปแล้วข้างต้น คงพอทำให้เห็นภาพมากขึ้นว่า โรคใบด่างที่เกิดบนพืชต่างสายพันธุ์จะแสดงลักษณะอาการที่มีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ต่างกัน แม้แต่ในพืชชนิดเดียวกันที่ได้ติดโรคคนละช่วงเวลาก็มักจะมีอาการและได้รับความเสียหายในจุดที่ต่างกันด้วย เราอาจแบ่งช่วงการติดโรคได้เป็น 2 ช่วง คือช่วงต้นกล้าและช่วงที่เติบโตเต็มที่แล้ว โรคใบด่างจะมีผลต่อการเจริญเติบโตอย่างมากเมื่อได้เข้าทำลายต้นพืชขณะที่ยังเป็นกล้าอ่อน และอาจรุนแรงจนต้นกล้าแห้งตายได้ ในทางกลับกันหากต้นพืชเติบโตแข็งแรงมากพอแล้ว โรคใบด่างจะสร้างความเสียหายให้กับผลผลิตมากกว่า ไม่ได้ตัดการเติบโตเสียทีเดียว เพราะส่วนมากยังเติบโตต่อได้ แค่มีต้นแคระแกร็นและผลิดอกออกผลได้ไม่สมบูรณ์

https://site.extension.uga.edu/colquittag/2016/11/

สาเหตุและการแพร่ระบาดของโรค

สาเหตุของการเกิดโรคใบด่าง

เนื่องจากธรรมชาติของเชื้อไวรัสจะมีการกลายพันธุ์ได้ค่อนข้างหลากหลาย แม้ว่าจะเป็นโรคใบด่างเหมือนกันแต่ก็ไม่อาจตีกรอบของวงศ์หรือสกุลแบบตายตัวได้ เว้นเสียแต่จะแยกประเภทตามสายพันธุ์พืชไปเลย เช่น โรคใบด่างในข้าวโพดเกิดจากเชื้อไวรัส Sugarcane mosaic virus หรือ Sugarcane mosaic virus subgroup MB โรคใบด่างในพืชตระกูลแตงเกิดจากเชื้อไวรัส Cucumber mosaic virus โรคใบด่างในมะเขือเทศเกิดจาก Tobacco mosaic virus เป็นต้น ทั้งรูปร่างและขนาดของไวรัสแต่ละชนิดแตกต่างกันมาก แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันสำหรับโรคใบด่างก็คือ มีคุณสมบัติทำให้เกิดอาการด่างเมื่อต้นพืชติดเชื้อ หลังจากไวรัสเข้าพักอาศัยในเซลล์พืชได้แล้วก็จะเริ่มเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว แหล่งสะสมเชื้อไวรัสที่ดีที่สุดก็คือบริเวณท่อน้ำเลี้ยงของพืชนั่นเอง ความน่ากลัวของโรคใบด่างอยู่ที่ระดับความรุนแรงซึ่งจะแปรผันตามอายุของต้นพืชด้วย ยิ่งเป็นต้นอ่อนมากเท่าไรก็ยิ่งเสียหายหนัก อีกทั้งเชื้อไวรัสส่วนมากสามารถอาศัยอยู่กับวัชพืชได้หลายชนิด มันจึงฝังตัวเองเพื่อรอให้ถึงฤดูกาลที่เหมาะสมได้

โรคใบด่างเกิดจาก
https://www.invasive.org/browse/

การแพร่ระบาดของโรคใบด่าง

ไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคใบด่างจะถ่ายทอดจากพืชต้นหนึ่งไปยังพืชอีกต้นหนึ่งด้วยวิธีกล ซึ่ง Agrios G.N.ได้อธิบายเกี่ยวกับวิธีกลไว้ในหนังสือ Plant Pathology ค่อนข้างละเอียดและเข้าใจง่าย ก็คือไวรัสจำเป็นต้องมีพาหะนำไป ไม่อาจแพร่กระจายสู่เซลล์พืชได้ด้วยตัวเอง และในบรรดาพาหะทั้งหมด เหล่าเพลี้ยอ่อนถือเป็นตัวการที่สำคัญที่สุด เรียกว่าเป็นหน่วยขนส่งเชื้อโรคที่ทำให้เกิดอาการด่างในต้นพืชโดยเฉพาะ ตัวอย่างของเพลี้ยอ่อนเจ้าปัญหาได้แก่ เพลี้ยอ่อนยาสูบ เพลี้ยอ่อนฝ้าย เพลี้ยอ่อนถั่ว เป็นต้น จุดแข็งของเพลี้ยอ่อนคือมีขนาดเล็กมากและขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว เมื่อเข้าไปสร้างปัญหาในแปลงเพาะปลูก เกษตรกรหลายคนจึงไม่ทันสังเกตเห็น จะรู้ตัวอีกทีก็ต่อเมื่อมีสัญญาณของโรคใบด่างเกิดขึ้นแล้วเท่านั้น นอกจากนี้คนที่ทำงานอยู่ในแปลงเพาะปลูกเองก็อาจจะเป็นพาหะโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ได้ด้วย อย่างเช่น การตัดแต่งกิ่ง การคัดแยกกล้าอ่อน เป็นต้น หากมีไวรัสแฝงตัวอยู่กับต้นพืชต้นหนึ่งก็จะกระจายเชื้อไปสู่ต้นอื่นๆ ได้ในจังหวะนี้เอง

โรคใบด่างในพืช
https://site.extension.uga.edu/colquittag/2016/11

การป้องกันกำจัดโรคใบด่าง

แนวทางการป้องกันโรคใบด่างเราสามารถดำเนินการได้ตั้งแต่ก่อนลงแปลงเพาะปลูก จนกระทั่งถึงฤดูเก็บเกี่ยว โดยมีกระบวนการพื้นฐานดังต่อไปนี้

  • หมั่นดูแลแปลงปลูกให้เป็นพื้นที่ปราศจากเชื้อโรคอย่างสม่ำเสมอ ในช่วงก่อนเริ่มการเพาะปลูกให้กำจัดวัชพืชออกให้หมด แม้แต่พืชพันธุ์เดิมที่เคยปลูกไว้ก่อนหน้านี้ ถ้ามีเศษซากหลงเหลืออยู่ก็ต้องเอาออกไปด้วย และเผาทำลายเพื่อป้องกัน
  • เลือกใช้ต้นกล้าหรือเมล็ดพันธุ์ที่ปราศจากเชื้อ
  • เพาะต้นกล้าในมุ้งกันแมลง พร้อมย้ายลงแปลงเมื่อกล้านั้นเติบโตและแข็งแรงสมบูรณ์ดีเท่านั้น
  • ระหว่างเพาะปลูกต้องหมั่นตรวจแปลงปลูกอยู่เสมอ เมื่อพบต้นพืชที่มีสัญญาณของโรคให้เร่งทำลายทันที แม้ว่าจะมีอาการเพียงเล็กน้อยก็ตาม รวมถึงกำจัดวัชพืชในแปลงปลูกและพื้นที่ใกล้เคียงด้วย
  • ทำความสะอาดอุปกรณ์และเครื่องมือทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการเพาะปลูกทุกครั้งหลังการใช้งาน และควรทำความสะอาดซ้ำหากไม่ได้ใช้อุปกรณ์เหล่านั้นเป็นเวลานาน
  • หากแปลงปลูกเคยมีประวัติติดเชื้อโรคใบด่างมาก่อน ควรมีการปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียนบ้าง แต่ต้องระวังพืชที่มักเป็นแหล่งอาศัยของไวรัส เช่น ยาสูบ ฟักทอง แตงกวา เป็นต้น

นอกจากนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับกลุ่มอารักขาพืชของสำนักงานเกษตร ยังมีความเห็นตรงกันว่าการพ่นยากำจัดแมลงที่เป็นพาหะ สามารถช่วยลดการเกิดโรคใบด่างได้ ซึ่งสามารถเลือกใช้สารฉีดพ่นได้หลายตัว และยังทำได้ในทุกช่วงการเพาะปลูกอีกด้วย

ยาแก้โรคใบด่างมันสำปะหลัง
http://www.officecenterthai.com/

โรคใบด่างในพืชชนิดอื่นๆ ที่น่าสนใจ

โรคใบด่างเป็นโรคพืชที่เกิดจากเชื้อไวรัสในหลากหลายสกุล ลักษณะอาการก็จะแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ของไวรัส และพื้นฐานความแข็งแรงของต้นพืช แต่ในภาพรวมก็คือทำให้ส่วนใบมีรอยด่าง อาจกัดกินเนื้อใบให้หมดไปหรือทำให้รูปทรงใบบิดเบี้ยวก็ได้ โดยตัวอย่างของพันธุ์พืชที่น่าสนใจและพบโรคใบด่างได้บ่อย มีดังนี้

โรคใบด่าง มันสำปะหลัง

จากข้อมูลในคู่มือวินิจฉัยโรคใบด่างมันสำปะหลังของกรมวิชาการเกษตร ได้ระบุถึงต้นเหตุสำคัญของโรคใบด่างที่พบมากในบ้านเราว่าเป็นเชื้อไวรัสในสกุล Begomovirus ซึ่งทำให้เกิดอาการแตกต่างกันไปในแต่ละส่วนของต้นพืช ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับลักษณะการติดโรคที่แตกต่างกันด้วย หากมีโรคใบด่างปะปนมากับท่อนพันธุ์ ความผิดปกติที่สังเกตเห็นได้ชัดเจนที่สุดจะอยู่บริเวณยอดอ่อนและใบ เริ่มจากรอยด่างขนาดเล็กสีเขียวอ่อนสลับเหลือง เมื่อรอยด่างลุกลามเป็นวงกว้างมากขึ้น ใบจะเรียวเล็กลงและหงิกงอ บริเวณลำต้นก็อาจพบจุดด่างจนทำให้เกิดอาการลำต้นบิดเบี้ยวและแคระแกร็นได้เช่นเดียวกัน แต่ถ้าเป็นโรคใบด่างที่มาพร้อมแมลงหวี่ขาวยาสูบ ยอดบนสุดของต้นมันสำปะหลังจะมีสีซีดลงก่อน แล้วค่อยลามมายังใบที่อยู่ด้านล่าง

โรคใบด่าง มันสำปะหลัง
https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_1737449

โรคใบด่าง พริก

พืชในตระกูลพริกก็ได้รับผลกระทบจากโรคใบด่างไม่แพ้กัน อีกทั้งยังมีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสหลายสายพันธุ์ ทำให้การป้องกันทำได้ยากพอสมควร โดยเราสามารถจัดกลุ่มเฉพาะโรคใบด่างที่พบได้บ่อยดังนี้

  • โรคใบด่างแตง เป็นโรคที่มักเกิดในพืชตระกูลแตงทั้งหมดและเกิดในพริกด้วยเช่นกัน อาการจะเด่นชัดมากที่ใบยอด เริ่มจากเป็นรอยด่างเขียวอ่อนสลับเขียวเข้มคล้ายพริกขาดสารอาหาร จากนั้นใบจะเรียวเล็กและหลุดร่วง ในหนังสือคู่มือโรคผักของกลุ่มวิจัยโรคพืชยังเพิ่มเติมอีกว่า อาจพบรอยแผลสีน้ำตาลเข้มได้บ้างเมื่อเซลล์พืชถูกทำลายหนัก ผล ดอก และลำต้นก็จะแคระแกร็นจนไม่สามารถสร้างผลผลิตคุณภาพดีได้อีก
  • โรคใบด่างประ บริเวณใบจะมีรอยด่างสีเขียวอ่อนสลับเข้ม และมีจุดประกระจายตัวตามแนวเส้นกลางใบ รูปร่างใบจะบิดเบี้ยวไปเล็กน้อย ใบที่แตกใหม่ก็จะมีขนาดเล็กลงมาก แต่ถ้าโรคใบด่างประเกิดกับต้นกล้า มันจะทำให้ต้นเล็กผิดปกติ พร้อมกับลดโอกาสการเติบโตอย่างสมบูรณ์
  • โรคใบด่างแบบหงิกเหลือง เป็นโรคใบด่างในพริกที่เกิดความเปลี่ยนแปลงชัดเจน ทำให้สังเกตเห็นได้ง่ายตั้งแต่ระยะเริ่มต้น โดยใบจะมีรอยด่างสีเหลือง บริเวณไหนที่เสียหายมากเนื้อใบจะมีความโปร่งแสง สว่นลำต้นและผลก็จะบิดเบี้ยวผิดรูปไป
โรคใบด่าง พริก
photo on Twitter by @aorwiki

โรคใบด่าง ถั่วฝักยาว

ในกลุ่มของพืชตระกูลถั่วมักจะเจอปัญหาจากไวรัส Cowpea aphid-borne mosaic virus เป็นหลัก ทำให้เกิดโรคใบด่างเหลือง อาการจะเกิดที่ใบอ่อนของต้นถั่วฝักยาวก่อน พบเป็นรอยด่างสีเหลืองสลับเขียวชัดเจน หรือไม่ก็จะเป็นสีด่างขาวสลับเขียว ใบแก่จะมีรอยด่างเล็กและสังเกตเห็นได้ยากกว่า ถ้าติดโรคใบด่างตั้งแต่ยังเป็นต้นกล้า ยอดอ่อนจะไม่แตก ปลายยอดเป็นใบเล็กหงิกงอ ต้นไม่ตายแต่ไม่โตไปกว่าเดิม ส่วนการติดโรคในต้นโตเต็มที่แล้ว ผลจะมีขนาดฝักสั้นและเล็กกว่าปกติหลายเท่า

โรคใบด่างถั่วฝักยาว
https://esc.doae.go.th/

โรคใบด่าง มะละกอ

สำหรับโรคใบด่างในมะละกอเราจะเรียกว่าโรคใบด่างวงแหวน เนื่องจากรอยแผลที่เกิดขึ้นมีรูปร่างกลมเหมือนวงแหวน มีต้นเหตุมาจากเชื้อไวรัส Papaya Ringspot Potyvirus (PRVS) ข้อดีของต้นมะละกอก็คือเป็นพันธุ์พืชที่เพาะเลี้ยงง่ายและมีความแข็งแรงทนทานสูง ดังนั้นเมื่อติดโรคใบด่างในช่วงที่ผลิดอกออกผลเรียบร้อยแล้วจะเกิดความเสียหายค่อนข้างน้อย อาจมีแค่ส่วนผลที่ได้เนื้อแข็งเป็นไตเท่านั้น แต่ถ้าเป็นการติดโรคก่อนหน้านั้น ใบจะเริ่มเห็นรอยด่างกระจายไปทั่ว เซลล์ผิวใบถูกทำลายจนหดเล็กลง และอาจรุนแรงมากจนเหลือแค่เส้นใบให้เห็นเท่านั้น ส่วนของลำต้นจะหยุดการเจริญเติบโตไป

โรคใบด่าง มะละกอ
https://www.qyield.com/article/view.php?id=14

อย่างไรก็ตาม เราสามารถสรุปภาพรวมอาการของโรคใบด่างเบื้องต้น เพื่อใช้เป็นแนวทางในการสังเกตความเปลี่ยนแปลงพร้อมกับเฝ้าระวังต้นพืชทุกสายพันธุ์ได้ จุดแรกให้ดูที่ใบอ่อนเป็นอันดับแรก เพราะนี่คือจุดที่เชื้อโรคเข้าทำลายได้ง่าย บริเวณผิวใบจะมีรอยด่างหลายรูปแบบ อาจเป็นจุด เป็นเส้น หรือเป็นแบบไร้รูปทรงคงที่ก็ได้ ต่อมารูปทรงใบจะเปลี่ยนไป เริ่มจากหงิกงอคดโค้ง ถ้าอาการหนักก็อาจจะสูญเสียเนื้อใบไปเลย ลำต้นอาจพบจุดได้บ้างในพืชบางสายพันธุ์ ส่วนผลจะมีขนาดเล็ก เหี่ยว บิดเบี้ยว และมีเนื้อสัมผัสที่ไม่ปกติ ถ้ามีอาการเข้าข่ายนี้ก็สามารถคาดการณ์ว่าพืชจะติดโรคใบด่างได้

แหล่งอ้างอิง

ส่วนหนึ่งของหนังสือแปล Plant Pathology, Agrios G.N.
คู่มือโรคผัก, กลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร.2552.
คู่มือวินิจฉัยโรคใบด่างมันสำปะหลังเบื้องต้น, กรมวิชาการเกษตร.

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความนี้