ต้นไม้ไม่ผลัดใบ

9 ต้นไม้ไม่ผลัดใบที่ใช้บังแดดและให้ร่มเงาได้อย่างดีเยี่ยม

Facebook

สำหรับหลาย ๆ คนที่ชื่นชอบการปลูกต้นไม้ใหญ่ ๆ และมองหาต้นไม้ที่ใช้บังแดดหรือให้ร่มเงาได้อย่างดี แต่ก็ไม่ใช่คนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องต้นไม้มากนัก ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าบางครั้งต้นไม้ที่เราเลือกมาปลูกจากความชื่นชอบนั้นบงาทีก็อาจจะสร้างปัญหาให้กับเราได้ในภายหลัง ส่วนใหญ่ปัญหาที่เราจะพบได้จากการปลูกไม้ผลัดใบก็คือ เป็นไม้ที่รากทำลายโครงสร้างบ้าน ต้นไม้ไม่แข็งแรงเนื่องจากปลูกในพื้นที่จำกัด ดินในบริเวณที่ปลูกไม่มีความอุดมสมบูรณ์มากพอสำหรับการแทงรากหยั่งลึกเพื่อหาอาหาร รวมไปถึงลักษณะการผลัดใบของต้นไม้ที่ใบจะร่วงทั้งต้น สร้างความลำบากให้เราต้องหมั่นทำความสะอาดเศษซากใบไม้เหล่านั้น 

ต้นไม้ไม่ผลัดใบ
www.thespruce.com

ยิ่งในกรณีที่เราอยู่อาศัยในบ้านในโครงการหรือบ้านจัดสรรที่ต้องอยู่ติดกันหลาย ๆ ครัวเรือน ต้นไม้ของเราที่ผลัดใบก็อาจจะสร้างความเดือดร้อนให้แก่เพื่อนบ้านได้ ดังนั้น การศึกษาลักษณะของต้นไม้ที่จะปลูก ข้อดีข้อเสียของต้นไม้ผลัดใบและไม่ผลัดใบ เงื่อนไขเรื่องพื้นที่ในการปลูกต้นไม้นั้น ๆ  รวมไปถึงการเลือกต้นไม้ที่ให้ร่มเงาได้แต่ไม่ผลัดใบก็เป็นเรื่องที่ล้วนแล้วแต่สำคัญทั้งสิ้น ดังนั้น Kaset today จึงไม่พลาดที่จะมาให้ความรู้พร้อมไปกับแนะนำต้นไม้บังแดดที่ไม่ผลัดใบ มาดูกันว่ามีต้นไม้ชนิดไหนที่ถูกใจคุณบ้าง

ข้อควรรู้เกี่ยวกับไม้ผลัดใบ 

ต้นไม้ผลัดใบ หลายคนที่ได้ยินคำนี้ก็อาจสงสัยว่าต้นไม้ที่ตัวเองปลูกอยู่จัดอยู่ในกลุ่มต้นไม้ประเภทนี้หรือเปล่า เพราะฉะนั้นเราต้องมาทำความเข้าใจก่อนว่าต้นไม้ผลัดใบคืออะไร ถ้าจะให้เข้าใจกันแบบง่าย ๆ ไม้ผลัดใบก็คือการที่ต้นไม้จะทิ้งใบทั้งหมดหรือทิ้งใบจนหมดต้นเพื่อที่จะออกดอก ซึ่งเราจะเห็นได้บ่อย ๆ ในไม้ยืนต้นอย่างราชพฤกษ์ (ต้นคูน) ต้นชมพูพันธุ์ทิพย์ ต้นกัลปพฤกษ์ หรือต้นหางนกยูงที่เมื่อถึงช่วงของการผลัดใบแล้วทั้งต้นก็จะทิ้งใบและออกดอกบานสะพรั่งจนทั่วทั้งต้น

ต้นไม้ไม่ผลัดใบ
ต้นราชพฤกษ์
ต้นไม้ไม่ผลัดใบ
ต้นกัลปพฤกษ์

ส่วนใครที่กำลังสงสัยว่าแล้วทำไมต้นไม้เหล่านี้จึงต้องผลัดใบ ก็ไม่ต้องแปลกใจเพราะมันถือเป็นกระบวนการในการเอาตัวรอดของต้นไม้บางชนิดที่จะต้องผลัดใบในช่วงใกล้เข้าสู่ฤดูหนาว เพราะเมื่ออุณหภูมิเย็นลงก็ส่งผลให้สภาพอากาศแห้งแล้งลงไปด้วย จึงทำให้ต้นไม้ต้องเริ่มปรับตัวและรักษาน้ำที่อยู่ในลำต้นเพื่อใช้ในการสร้างอาหาร ดังนั้น ต้นไม้เหล่านี้จึงต้องมีวิธีเอาตัวรอดโดยอาจจะใช้การเปลี่ยนสีเพื่อลดการคายน้ำหรือหยุดการสังเคราะห์แสงรวมไปถึงการทิ้งใบจากต้นด้วย

ต้นไม้ไม่ผลัดใบ
www.pembertonholmes.com

ใบของไม้ยืนต้นและไม้พุ่มหลายชนิดจะเริ่มหยุดผลิตอาหารและดึงเอาอาหารในส่วนต่าง ๆ มาเก็บไว้ในบริเวณลำต้น นั่นเป็นสาเหตุให้ต้นไม้จำเป็นต้องทิ้งใบจากต้นเพื่อไม่ให้ต้นไม้ผลิตอาหารเพิ่มและลดการใช้พลังงานในส่วนที่ไม่จำเป็นลง รวมถึงสร้างกาบพิเศษขึ้นมาเพื่อห่อหุ้มตายอดไว้ไม่ให้ต้นแตกยอดใหม่ในช่วงเวลานั้น อัตราการเจริญเติบโตจะหยุดชะงักไปทันที ทำให้ต้นไม้ยังคงรักษาสมดุลภายในเอาไว้ได้จนกว่าจะมีอุณหภูมิที่สูงขึ้นและเกิดกระบวนการการผลิตอาหารตามปกติ

9 ต้นไม้ไม่ผลัดใบ ปลูกบังแดดได้ไร้ปัญหา

หลังจากที่เราทำความเข้าใจทั้งเรื่องกระบวนการผลัดใบของต้นไม้ไปบ้างแล้ว หลายคนที่เริ่มมองเห็นปัญหาในการปลูกต้นไม้ชนิดนี้ก็อาจจะอยากรู้ว่าแล้วถ้าอยากได้ต้นไม้สวย ๆ มาบังแดด ให้ร่มเงา แต่ไม่อยากให้มันผลัดใบจะมีต้นไหนบ้างที่ไม่สร้างปัญหาเหล่านี้ ดังนั้น ทางเราก็ไม่พลาดที่จะยก 9 พันธุ์ไม้ยืนต้นสวย ๆ ที่จะมาให้ความร่มรื่นแก่บ้านโดยไม่ทิ้งใบหล่นเต็มพื้นให้รบกวนใจ เพราะฉะนั้นเดี๋ยวเรามาดูกันว่ามีต้นไหนน่าสนใจบ้าง

ต้นพิกุล
www.flowersong.in

1. ต้นพิกุล 

เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ มีอัตราการเจริญเติบโตค่อนข้างช้า ถ้าใครนำมาปลูกตั้งแต่ที่ยังเป็นต้นกล้าเล็ก ๆ ก็อาจจะต้องทำใจเพราะใช้เวลาหลายปีกว่าจะโต แต่เป็นต้นไม้ที่มีทรงพุ่มแน่นทึบที่มีความสวยงาม สามารถบังดดได้ดีและที่สำคัญรากของต้นพิกุลไม่ค่อยใหญ่มาก ดังนั้น ปลูกติดบ้านได้ไม่ทำลายโครงสร้างของบ้านอย่างแน่นอน พิกุลนอกจากจะเป็นต้นไม้ที่มีพุ่มทรงกลม แตกแขนงออกมาด้านข้าง มีใบขนาดเล็กแล้วก็ยังมีดอกที่ส่งกลิ่นหอมมาก ๆ และสามารถออกดอกได้เกือบตลอดทั้งปี จะออกมากในช่วงเดือน มกราคม – สิงหาคม เมื่อถึงฤดูออกดอกแล้วก็จะไม่ทิ้งใบให้รกพื้นที่ในบริเวณบ้านของเราด้วย

ข้อแนะนำสำหรับคนที่อยากปลูกต้นพิกุล ให้ลองหาต้นที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมาสักเล็กน้อย ความสูง 2 – 3 เมตรลำต้นประมาณ 2 – 3  นิ้ว หรือที่เรียกว่าไม้ล้อมมาปลูก จะช่วยให้ได้ต้นพิกุลที่โตเร็วกว่าการนำมาปลูกเองจากต้นกล้า

การดูแล

น้ำ:  ต้องการน้ำและความชื้นปานกลาง รดน้ำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 – 3 ครั้ง เพื่อรักษาสภาพดินให้ชุ่มชื้น

แสง: ต้องเน้นปลูกที่กลางแจ้ง ให้ถูกแสงแดดอย่างทั่วถึง

ดิน: ปลูกได้ดีในดินทุกชนิด แต่ถ้าเป็นดินร่วนทั่ว ๆ ไปจะปลูกได้ดีกว่าดินอื่น ๆ 

ปุ๋ย: ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อัตรา 2 – 3 กิโลกรัมต่อต้น ควรใส่ปีละ 4 – 6 ครั้ง

บุนนาค
www.flickr.com

2. ต้นบุนนาค

เป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบขนาดกลาง ๆ มีอัตราการเจริญเติบโตค่อนข้างช้าในระยะแรกที่ปลูก เป็นไม้ที่มีทรงพุ่มทรงกระบอก คือ จะไม่แผ่ขยายออกข้างแต่จะสูงขึ้นได้ประมาณ 3 –  4 เมตร มีใบเล็กเรียวยาวเป็นพุ่มหนาทึบสวยงาม ดอกของต้นบุนนาคมีกลิ่นหอมแม้จะไม่หอมฟุ้งเหมือนพิกุลแต่เมื่อเดินเข้าไปดมใกล้ ๆ ก็จะได้กลิ่นที่หอมมากเช่นกัน ดอกมีลักษณะที่สวย กลีบเป็นสีขาวและมีเกสรสีเหลืองตรงกลาง ต้นนี้เหมาะมากสำหรับคนที่ต้องการไม้ที่ปลูกบังแดด บังลม แต่มีพื้นที่บ้านที่ไม่กว้างมาก ขอแค่มีระยะห่างระหว่างตัวบ้านกับรั้วประมาณ 3 – 4 เมตรและเป็นพื้นที่กลางแจ้งก็สามารถปลูกต้นนี้ได้แบบสบาย ๆ 

การดูแล

น้ำ: ต้องการประมาณน้ำมาก เพราะถึงแม้จะชอบแดดจัดแต่ก็ชอบความชื้นเช่นกัน จึงควรรดน้ำให้สัปดาห์ละ 3 – 4 ครั้ง

แสง: เป็นต้นไม้ที่ชอบแสงแดดจัด จึงต้องปลูกในที่โล่ง กว้าง มีแดดส่องถึงตลอดทั้งวัน

ดิน: ต้นบุนนาคชอบดินที่ระบายน้ำได้ดี แต่ยังคงความชุ่มชื้นและสารอาหารที่เพียงพออย่างดินร่วน

ปุ๋ย: สำหรับต้นบุนนาคควรใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อัตรา 2:3 กิโลกรัมต่อตัน ควรใส่ปีละ 2 – 4 ครั้ง หรือใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 200 – 300 กรัมต่อตัน ควรใส่ปีละ 2 – 3 ครั้ง

อโศกน้ำ
www.indiagardening.com

3. ต้นอโศกน้ำ

เป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบอีกชนิดที่มีทรงพุ่มออกด้านข้างมากกว่าจะสูงขึ้นไปด้านบน มีลักษณะพุ่มที่หนาทึบสวยงาม ดังนั้น อาจจะต้องมองหาพื้นที่ปลูกที่กว้างมากพอให้ต้นสามารถขยายพุ่มออกไปได้กว้าง ๆ โดยไม่เสียทรง ออกดอกเล็ก ๆ เป็นช่อ ช่วงแรกที่บานจะมีสีเหลืองเมื่อผ่านไประยะเวลาหนึ่งก็จะกลายเป็นสีแดง หรือสีส้มสวยงามแปลกตา ดอกของอโศกมีกลิ่นหอมแต่ต้องเข้าไปดมใกล้ ๆ จึงจะได้กลิ่น เป็นไม้ใหญ่ที่ปลูกง่าย มีอัตราการเจริญเติบโตระดับกลาง ๆ แต่ตายค่อนข้างยาก อีกทั้งยังเป็นต้นที่มีประโยชน์เพราะยอดอ่อนและดอกสามารถรับประทานได้มีรสเปรี้ยวอมฝาด ช่วยขับเสมหะได้ดี แนะนำหากจะปลูกหลายต้นระยะปลูกที่เหมาะสม 4 – 8 เมตร จะให้ร่มเงาได้อย่างดีเลย

การดูแล

น้ำ: ต้องการน้ำมาก ควรรดน้ำอย่างสม่ำเสมอ แต่อย่ารดด้วยปริมาณมากจนดินแฉะ ความถี่ที่เหมาะสมคือวันเว้นวัน

แสง: ต้องการแสงแดแเต็มวัน ดังนั้น ควรปลูกในที่โล่งแจ้งจะดีที่สุด

ดิน: ไม่ควรปลูกในดินลูกรัง พยายามมองหาดินร่วนที่ระบายน้ำได้ดีหรือดินที่ได้รับการบำรุงอย่างดี เพราะรากจะสามารถแทงได้เร็ว ทำให้ดอกและใบสวยงามแข็งแรง

ปุ๋ย: ให้ใส่ปุ๋ยคอกเพื่อบำรุงแร่ธาตุในดินประมาณ 2-3 ครั้งต่อปี หรือจะเพิ่มปุ๋ยเร่งดอกบ้างเป็นครั้งคราวก็ได้เช่นเดียวกัน

อโศกระย้า
www.flickr.com

4. ต้นอโศกระย้า

เป็นไม้ยืนต้นในตระกูลอโศกอีกชนิดที่น่าปลูกไว้ที่บ้านเพราะขึ้นชื่อว่าเป็นราชินีแห่งไม้ยืนต้น แต่ถึงแม้จะเป็นไม้ไม่ผลัดใบก็เป็นต้นไม้ที่มีอัตราการเจริญเติบโตค่อนข้างช้า อาจต้องใช้ระยะเวลาในการปลูกมากสักหน่อย ต้นนี้เป็นไม้ทรงพุ่มแต่ไม่ถึงกับทึบมากแค่พอประมาณบังแดดได้ ทรงพุ่มสูงไม่แผ่ออกข้าง สูงได้ประมาณ 10 – 15 เมตร สามารถปลูกใกล้กับตัวบ้านได้เพราะระบบรากไม่ใหญ่มาก ไม่รบกวนโครงสร้างบ้านอย่างแน่นอน ต้นอโศกระย้ามีมูลค่าค่อนข้างสูง ราคาแพง ถ้าลำต้นใหญ่ประมาณ 10 – 20 นิ้ว ก็ราคาหลักหมื่นเลยทีเดียว ดอกมีขนาดเล็กและออกเป็นพวง ๆ ย้อยลงมา มีดอกเป็นสีแดงสดเมื่อถึงช่วงออกดอกแล้วต้นนี้จะสวยมาก ๆ เป็นอีกไม้ยืนต้นที่อยากแนะนำให้ใครหลายคนลองไปหามาปลูกกันดู ได้ทั้งไม้บังแดด บังลมแล้วยังได้ไม้ประดับบ้านให้สวยงามด้วย

การดูแล

น้ำ: ต้องการในระดับปานกลาง รดน้ำให้ชุ่มชื้นประมาณสัปดาห์ละ 2 – 3 ครั้ง

แสง: แสงแดดคสรได้รับอย่างน้อบครึ่งวันหรือถ้าปลูกกลางแจ้งแดดเต็มวันได้ก็ไม่มีปัญหาอะไร

ดิน: ปลูกในดินร่วนจะดีที่สุดเพราะสามารถระบายน้ำได้สะดวกกว่าดินประเภทอื่น ๆ 

ปุ๋ย: ให้ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยอินทรีย์เพื่อบำรุงแร่ธาตุในดินประมาณ 3 – 4 ครั้งต่อปี หรือจะเพิ่มปุ๋ยเร่งดอกบ้างเป็นครั้งคราวก็ได้เช่นเดียวกัน 

ลำดวน

5. ต้นลำดวน

เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ มีใบเล็กเรียวยาวสีเขียวเข้ม ทรงพุ่มแน่นหนาทึบบังแสงได้ดี จัดเป็นไม้ยืนต้นที่มีระบบรากไม่ใหญ่ อัตราการเจริญเติบโตขึ้นอยู่กับพื้นที่หรือดินที่ใช้ปลูก ถ้าเป็นพื้นที่ที่มีดินร่วนได้รับการบำรุงอย่างดี ได้รับแสงแดดอย่างทั่วถึงก็จะทำให้ต้นเจริญเติบโตค่อนข้างเร็วและแข็งแรง ลำดวนเป็นต้นไม้พื้นถิ่นที่หลายคนรู้จักกันดี เพราะมีดอกที่ส่งกลิ่นหอมมาก ๆ ดอกมีขนาดเล็กสีเหลืองออกสีส้ม อ่อน ๆ กลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว หลังจากที่บานแล้วก็จะร่วงจากต้นแต่ไม่ทิ้งใบลงพื้นแน่นอน แนะนำถ้าใครอยากปลูกสามารถซื้อไม้ล้อมขนาดลำต้นสองถึง 3 นิ้วสูงสองถึง 3 เมตรกำลังพอดี สามารถปลูกในบริเวณบ้านที่มีพื้นที่จำกัดได้ แต่อาจจะต้องกว้างพอจะให้ลำต้นสามารถแผ่ขยายได้อย่างสมบูรณ์

การดูแล

น้ำ: เป็นไม้ที่ชอบความชื้น ควรหมั่นรดน้ำให้ต้นลำดวนอย่างสม่ำเสมอในปริมาณที่พอดี โดยให้รดน้ำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 – 4 ครั้ง

แสง: เป็นไม้ที่ชอบแสงแดดมาก ๆ ดังนั้น ควรปลูกไว้ในบริเวณกลางแจ้ง เพื่อให้แสงแดดนั้นส่องมาถึงตลอดทั้งวัน ซึ่งมันส่งผลโดยตรงต่อการเจริญเติบโตของต้นลำดวน

ดิน: สามารถปลูกได้ดีในดินทุกประเภท แต่ถ้าจะใช้ดินร่วนซุยในการปลูกจะช่วยให้ต้นลำดวนนั้นเจริญเติบโตได้เร็วขึ้นกว่าดินประเภทอื่น

ปุ๋ย: การใส่ปุ๋ยให้ต้นลำดวนแนะนำให้ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักในการบำรุงดิน อัตรา 1-2 กิโลกรัมต่อต้นและควรจะใส่ปุ๋ยปีละ 3-5 ครั้ง

มั่งมี
www.indiabiodiversity.org

6. ต้นมั่งมี

เป็นไม้ยืนต้นที่ได้รับความนิยมมากด้วยรูปทรงต้นที่สวยงาม เป็นพุ่มทรงกรวยที่แผ่ขยายออกด้านข้างจึงสามารถบังแดดและให้ร่มเงาได้อย่างดี อีกทั้งยังเป็นไม้มงคลที่หลายคนนิยมปลูกไว้ประดับตกแต่งบ้าน มีอัตราการเจริญเติบโตที่ค่อนข้างเร็ว มีลำต้นขนาดกลางถึงใหญ่ ส่วนของลำต้นสามารถใหญ่ได้ 30 – 40 นิ้วและสามารถสูงได้ราว ๆ  10 – 15 เมตร แนะนำว่าใครที่มีพื้นที่โล่งกว้างไม่มาก สามารถปลูกต้นไม้นี้ไว้สร้างร่มเงาได้ในระยะยาวเลย ราคากลาง ๆ ไม่สูงมากจับต้องได้ เป็นต้นที่ปลูกง่าย ไม่ค่อยมีโรคหรือแมลงรบกวนปัจจุบันสามารถซื้อเป็นไม้ล้อม 2 – 3 นิ้ว มาปลูกกัน ส่วนใหญ่จะปลูกไว้เป็นประธานของสวนถึงฤดูก็จะมีดอกกลิ่นหอม เชื่อว่าถ้าปลูกต้นนี้แล้วจะช่วยเสริมมงคลให้เกิดความมั่งมี มั่งคั่ง ร่ำรวยแก่ผู้ปลูกด้วย

การดูแล

น้ำ: เป็นพันธุ์ไม้ที่ทนต่อสภาพพื้นที่และทนแล้งได้ค่อนข้างดี ปริมาณน้ำที่ให้ควรดูตามความเหมาะสม หากดินแห้งเกินไป ควรรดน้ำเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น หากเป็นฤดูฝนหรืออยู่ในพื้นที่ที่มีน้ำไหลผ่านอยู่ตลอดเวลาก็อาจจะปล่อยให้อาศัยแหล่งน้ำตามธรรมชาติ รดแค่ 2 – 3 วันต่อครั้ง

แสง: เป็นไม้ที่ต้องการแสงแดดจัดและหากได้รับแสงแดดเต็มวันจะยิ่งทำให้เจริญเติบโตได้เร็วขึ้น

ดิน: มีความสามารถในการเจริญเติบโตได้ในดินแทบทุกชนิด ยกเว้นทรายและดินลูกรังที่ไม่ค่อยมีสารอาหารไปเลี้ยงรากมากนัก 

ปุ๋ย: ต้นนี้ไม่ต้องใช้การบำรุงด้วยปุ๋ยก็เจริญเติบโตได้ดี แต่หากต้องการเพิ่มสารอาหารในดิน ก็สามารถใส่ปุ๋ยคอกให้ปีละ 1 –  2 ครั้งได้ตามความเหมาะสม

กันเกรา

8. ต้นกันเกรา

เป็นอีกหนึ่งพันธุ์ไม้มงคลของไทยที่เชื่อว่าปลูกไว้แล้วจะช่วยป้องกันสิ่งไม่ดีหรือความโชคร้ายไม่ให้เข้ามาทำอันตรายเรา ภาคเหนือและภาคอีสานเรียกว่า ต้นมันปลา เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงประมาณ 10 – 15 เมตรหรืออาจพบว่าสูงได้มากถึง 25 เมตรในบางพื้นที่ที่ปลูก มีใบทรงรีปลายแหลมออกเรียงสลับกัน ใบหนาแน่นที่ปลายกิ่งสีเขียวเข้มเป็นมัน ต้นมีทรงพุ่มสวยงาม ออกดอกช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายน โดยดอกจะมีลักษณะเป็นช่อออกตามซอกใบ เมื่อเริ่มบานจะเป็นสีขาวและเมื่อบานเต็มที่จะเป็นสีเหลืองอมแสด ต้นกันเกรามีประโยชน์ทั้งในด้านยารักษาโรคผิวหนังแผลพุพอง บำรุงโลหิต ส่วนเนื้อไม้มีความละเอียด เหนียว แข็ง ทนทานจึงนิยมนำไปใช้ในการก่อสร้างหรือทำเสาเรือน เป็นอีกต้นไม้ที่นอกจากจะไม่ผลัดใบแล้วก็ยังให้ประโยชน์หลากหลายด้วย

การดูแล

น้ำ: เป็นไม้ที่ต้องการน้ำในระดับปานกลาง ทนแล้งไม่ค่อยได้แต่ทนต่อน้ำท่วมขังได้ดี ดังนั้น ควรรดน้ำให้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 – 4 ครั้ง

แสง: เป็นไม้ที่ต้องการแสงแดดจัดหรือแสงแดดเต็มวัน เพราะมีผลโดยตรงต่อการเจริญเติบโต

ดิน: มีความสามารถในการเจริญเติบโตได้ในดินแทบทุกชนิด โดยเฉพาะดินที่สามารถกักเก็บความชุ่มชื้นไว้ได้ดีอย่างดินร่วน

ปุ๋ย: หากปลูกในดินไม่ดีควรใช้ปุ๋ยสูตร 15: 15: 15 หรือไม่ก็สามารถใส่ปุ๋ยคอกให้ปีละ 1 –  2 ครั้งได้ตามความเหมาะสม 

แก้วมุกดา
www.toptropicals.com

8. ต้นแก้วมุกดา

เป็นไม้ยืนต้นทรงพุ่มสวยและไม่ผลัดใบ สามารถสูงได้ประมาณ 3 – 15 เมตร ความพิเศษของต้นนี้เมื่อปลูกแยกเดี่ยว ๆ จะเป็นไม้พุ่มเตี้ยแต่เมื่อปลูกใหล้กับต้นไม้ใหญ่อื่น ๆ มันจะเลื้อยเกาะกับต้นไม้ชนิดนั้น ทำให้ต้นนี้จัดเป็นไม้รอเลื้อย มีอัตราการเจริญเติบโตอยู่ในระดับปานกลาง ปลูกไว้ 4 ปีต้นจะสูงราว ๆ 2.5 เมตร แต่สิ่งที่น่าสนใจของต้นนี้คือดอกของมันที่มีขนาดใหญ่ รูปร่างคล้าย ๆ ดอกแก้วที่ขยายใหญ่ได้ 10 – 20 เท่า ส่วนใหญ่จะออกดอกได้เกือบตลอดทั้งปีแต่จะออกมากในช่วงฤดูฝน ดอกมีสีขาวงาช้างสวยงาม ออกเป็นช่อ ช่อละ 4 – 5 ดอกและส่งกลิ่นหอมฟุ้ง ถึงดอกจะร่วงจากต้นแล้วก็ยังมีกลิ่นหอมไปอีกนาน หลายบ้านจึงนิยมปลูกต้นไม้ชนิดนี้ไว้ตกแต่งหน้าบ้าน บังแดด บังลมได้ค่อนข้างดี ปลูกได้แม้มีพื้นที่ไม่กว้างมากแถมยังดูแลได้ง่ายด้วย

การดูแล  

น้ำ: เป็นพันธุ์ไม้ที่ต้องการน้ำมากในการเจริญเติบโต ทนน้ำท่วมขังได้ดีแต่ทนแล้งไม่ได้ หากขาดน้ำในช่วงการเจริญเติบโตจะแสดงอาการใบเหี่ยวให้เห็นทันที ในช่วงหน้าร้อนควรรดน้ำอย่างน้อยวันเว้นวัน

แสง: ทนแล้งได้ดีมาก อีกทั้งยังชอบแสงแดดจัด ๆ ตลอดทั้งวัน ดังนั้น ปลูกไว้กลางแจ้งให้ได้รับแสงแดดทั่วถึงเต็มวันจะช่วยเพิ่มอัตราการเจริญเติบโตของต้นได้ดีมาก ๆ 

ดิน: สามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนที่มีสารอาหารเพียงพอและสามารถกักเก็บความชุ่มชื้นไว้ได้นาน

ปุ๋ย: แนะนำให้ลองหาปุ๋ยอินทรีย์ พวกขี้วัวหรือใบก้ามปูมาผสมดินแล้วนำมาใส่รอบ ๆ โคนต้น ทำอย่างน้อย 2 เดือนต่อครั้งเพื่อเพิ่มสารอาหารให้ดิน

ซิลเวอร์โอ๊ค
www.thetutuguru.com.au

9. ซิลเวอร์โอ๊ค

เป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบขนาดใหญ่ มีลำต้นสูงประมาณ 18 – 35 เมตร ปัจจุบันเป็นต้นไม้ที่กำลังมาแรงในหมู่คนรักการปลูกไม้ล้อมหรือไม้ยืนต้นต่าง ๆ เพราะเป็นไม้เมืองนอกที่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมและสภาพอากาศในบริเวณที่ปลูกได้ดี สามารถทนแดดจัด ๆ ได้ดีในขณะเดียวกันก็ทนต่ออากาศหนาวจัดในอุณหภูมิติดลบ – 8 องศา ได้ด้วย ด้วยเป็นพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในต่างประเทศทำให้เป็นไม้ตายยาก เจริญเติบโตได้ค่อนข้างดีและต่อเนื่อง ใบมีลักษณะคล้ายเฟิร์นแต่มีหลากหลายสี คือ ด้านบนของใบจะเป็นสีเขียวอมน้ำเงินส่วนใต้ใบเป็นสีเงินกำมะหยี่ เป็นพันธุ์ไม้ที่มีใบสวยงามแปลกตาและราคาสูง หายากมาก ดังนั้น ถ้าใครมีประดับบ้านไว้นับว่าโชคดีมาก ๆ ใบไม่ร่วงและปลูกไม่ยากอย่างที่ใครหลายคนคิดแน่นอน

การดูแล  

น้ำ: ในระยะแรกอาจต้องการน้ำค่อนข้างมาก รดเช้าหรือเย็นพอให้หน้าดินชุ่มชื้นแต่ต้องไม่แฉะจนเกินไป เมื่อต้นอ่อนเริ่มมีรากที่แข็งแรงดีแล้ว การให้น้ำควรให้ในปริมาณกลาง ๆ แบบวันเว้นวันก็พอ

แสง: เป็นไม้ที่ต้องการแสงแดดมาก ๆ ดังนั้น สามารถปลูกกลางแจ้งให้โดนแสงแดดตลอดวันได้เลย

ดิน: การปลูกซิลเวอร์โอ๊คควรเลือกปลูกในดินร่วนหรือดินร่วนปนทรายเป็นกรดอ่อน – ปานกลาง เพราะถือเป็นไม้ที่ไม่ชอบพื้นที่ที่มีน้ำขังในดินจนชื้นแฉะ ยิ่งโดยเฉพาะช่วงที่ต้นยังมีรากอ่อนไม่แข็งแรงมากนัก การเลือกดินหรือพื้นที่ในการปลูกจึงมีความสำคัญมาก ๆ

ปุ๋ย: ด้วยความเป็นไม้ใหญ่และต้องใช้การเติบโตอย่างต่อเนื่อง การให้ปุ๋ยแนะนำว่าควรใช้สูตรเสมอ 15 – 15 – 15 เพื่อเร่งโตและสูตร 25 – 7 – 7 เพื่อบำรุงราก จะช่วยให้ต้นโตพร้อมใช้งานภายใน 5 ปีหรือโตเต็มที่พอที่จะให้ร่มเงากับเราได้ดีกว่าการใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักทั่ว ๆ ไป

ข้อดีและข้อเสียของการปลูกไม้ไม่ผลัดใบ

เชื่อว่าหลังจากที่เราได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับไม้ผลัดใบและได้รู้จักต้นไม้ 9 ชนิดที่ไม่ผลัดใบแล้ว หลาย ๆ คนก็คงอยากรู้ว่าการปลูกต้นไม้ไม่ผลัดใบแบบนี้มีข้อดีหรือข้อเสียอย่างไร เพราะแน่นอนว่าไม่ว่าปลูกต้นไม้อะไรเราก็ต้องศึกษาให้ละเอียดรอบคอบก่อนจะนำมาปลูก ดังนั้น เราจึงได้อ้างอิงข้อมูลบางส่วนมาจากเว็บไซต์ Dengarden ซึ่งได้อธิบายข้อดีข้อเสียบางอย่างเกี่ยวกับการปลูกต้นไม้ที่ไม่ผลัดใบไว้ ดังต่อไปนี้

ต้นไม้ไม่ผลัดใบ
www.fremantleshippingnews.com.au

ข้อดี

1. ให้สีเขียวได้ตลอดทั้งปี

ข้อดีข้อนี้เชื่อว่าเป็นปัจจัยหลัก ๆ เลยที่หลายคนเลือกปลูกไม้ไม่ผลัดใบ ยิ่งถ้าบ้านไหนตั้งใจปลูกต้นไม้ไว้ประดับตกแต่งหน้าบ้านเพื่อเพิ่มความสวยงาม มีชีวิตชีวาให้กับพื้นที่บ้านของตัวเองแล้ว การปลูกไม้ที่ไม่ผลัดใบจะช่วยให้เรามองเห็นใบของมันมีสีเขียวสดใสตลอดทั้งปีเลย 

2. ให้ร่มเงาได้ดี

โดยส่วนใหญ่แล้วการเลือกปลูกต้นไม้ที่ไม่ผลัดใบภายในบ้านก็เป็นสิ่งที่ช่วยตอบโจทย์ให้แก่คนที่ต้องการเพิ่มร่มเงาให้ตัวบ้านหรือสร้างมุมพักผ่อนไว้นั่งเล่นเวลาร้อน ๆ ได้ เพราะฉะนั้นการมองหาต้นไม้ที่ไม่ทิ้งใบมาปลูกไว้ นอกจากจะให้สีเขียวสดตลอดทั้งปีแล้วก็ยังมีทรงพุ่มแน่น ๆ หนาทึบที่ช่วยให้เราได้รับร่มเงา บังแดด บังลมให้เราได้อย่างดีในระยะยาวด้วย

3. มีดอกกลิ่นหอม  

จะเห็นได้ว่าไม้ไม่ผลัดใบเกือบทุกต้นที่เรายกมาแนะนำในบทความนี้ ส่วนใหญ่นอกจากเรื่องที่ไม่ผลัดใบแล้วก็ยังมีดอกที่ให้กลิ่นหอมได้เกือบทุกต้น จนเปรียบเสมือนว่าเป็นลักษณะพิเศษของต้นไม้เหล่านี้ โดยนอกเหนือจากความสวยงามและคุณสมบัติเรื่องกลิ่นที่หอม ๆ ของพวกมันแล้ว ต้นไม้เหล่านี้ก็มักจะผลิดอกออกผลสีสันสวยงามให้เราได้ชื่นชมกันได้เกือบตลอดทั้งปี ช่วยให้บ้านของเรามีชีวิตชีวาขึ้น รวมทั้งสามารถปลูกเป็นไม้ประดับบ้านได้อย่างดีด้วย

4. ปลูกแล้วไม่ทำลายโครงสร้างบ้าน

ไม่ใช่ต้นไม้ทุกชนิดจะสามารถปลูกภายในบริเวณบ้านหรือปลูกติดตัวบ้านได้ เพราะรากของต้นไม้บางชนิดอาจทำลายโครงสร้างบ้านของเรา ทำให้พื้นนูนหรือกิ่งก้านแผ่ขยายเข้ามารบกวนตัวบ้านของเรา แต่ต้นไม้ที่เรายกมาแนะนำวันนี้นอกจากจะไม่ผลัดใบแล้ว รากของต้นไม้เหล่านี้ก็ยังหยั่งลึกลงไปดินโดยไม่แผ่ขยายออกด้านข้าง จึงไม่ทำลายโครงสร้างบ้านของเราให้เสียหายแน่นอน

5. ใบไม่ร่วงรกพื้นบ้าน

ต้องเรียกได้ว่าเป็นข้อดีที่สุดสำหรับการเลือกปลูกไม้ไม่ผลัดใบ โดยเฉพาะใครที่อาศัยในบ้านโครงการ ปลูกบ้านติดกันหลาย ๆ หลังร่วมกับคนอื่นแล้วอยากปลูกต้นไม้แต่ว่าไม่อยากให้ใบร่วงหล่นเต็มพื้นเดือดร้อนบ้านข้าง ๆ หรือต้องมาเก็บกวาดให้เหนื่อยภายหลัง การปลูกต้นไม้ที่ไม่ทิ้งใบจะช่วยลดปัญหาเหล่านั้นได้เยอะเพราะถึงจะมีช่วงที่ใบร่วง ดอกหล่นอยู่บ้าง แต่ก็ไม่บ่อยจนสร้างความลำบากให้เราแน่นอน รับรองว่าปลูกแล้วสบายใจหาห่วงเรื่องใบร่วงไปอีกนาน

ต้นไม้ไม่ผลัดใบ
www.treehugger.com

ข้อเสีย

1. มีโรคที่เกี่ยวกับใบบ่อย 

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเมื่อปลูกต้นไม้ที่ไม่ผลัดใบแล้วแม้ว่าจะไม่มีใบหลุดร่วงตามกระบวนการผลัดใบทางธรรมชาติ แต่ก็เสี่ยงต่อการหลุดร่วงด้วยโรคที่เกิดกับใบไม้อย่างโรคใบจุด ใบเหลือง ใบไหม้ หรือแมลงศัตรูพืชต่าง ๆ  เพราะด้วยความเป็นต้นไม้ที่มีใบขึ้นหนาทึบทั้งต้นตลอดปี จึงไม่แปลกที่จะมีปัญหาโรคพืชตามมา ขึ้นอยู่กับว่าผู้ปลูกจะดูแลอย่างไร ควรหาปุ๋ยมาบำรุงใบและรากให้แข็งแรงอย่างสม่ำเสมอ สังเกตสีใบที่มีการเปลี่ยนแปลงว่าเกิดจากการขาดน้ำหรือขาดสารอาหารในดินหรือไม่ อาจต้องใช้การดูแลที่มากกว่าไม้ผลัดใบอยู่พอตัว

2. บางต้นใช้พื้นที่เยอะ 

การปลูกไม้ไม่ผลัดใบอีกปัญหาที่มักพบได้คือการที่ต้นมีขนาดใหญ่หรือสูงมาก ๆ ด้วยลักษณะต้นไม้ที่เป็นพุ่มใหญ่ใบหนาแน่น กิ่งก้านแผ่ขยายออกด้านข้าง หรือมีความสูงเกิน  5 – 7 เมตรขึ้นไป ทำให้หลาย ๆ คนอาจจะต้องมองหาพื้นที่ที่มากพอสำหรับการเจริญเติบโตของต้นไม้ชนิดนั้นอย่างเต็มที่ มีพื้นดินมาพอให้รากหยั่งลึกลงไปหาอาหารได้อย่างเต็มที่ แต่เราที่เป็นผู้ปลูกเองก็สามารถศึกษาและเลือกสรรต้นที่พอดีกับขนาดพื้นที่ภายในบ้านของเราได้ 

3. ต้องหมั่นดูแลตัดแต่งต้น 

อย่างที่ได้กล่าวไปในข้างต้นว่าพอต้นไม้เหล่านี้ไม่ผลัดใบแล้ว เราก็จำเป็นที่จะต้องให้การดูแลเอาใจใส่กับมันเป็นพิเศษ อย่างการคอยสังเกตสุขภาพใบ การผลิดอกออกผล รวมไปถึงการตัดแต่งต้นไม้เหล่านี้ไม่ให้สูงใหญ่จนเกินไป ยิ่งในกรณีที่บ้านเรามีเสาไฟฟ้า หรือเสาสัญญาณต่าง ๆ อยู่ภายในบริเวณบ้านแล้วไม่อยากให้ต้นไม้ไปบดบัง หรือเกี่ยวพันกับสายไฟฟ้าจนอาจเกิดอันตรายได้ ดังนั้น ควรหาเวลามาตัดหรือตอนกิ่งให้ต้นมีทรงสวยงาม ไม่ใหญ่เกินไปจนหักมาทับถมหลังคาบ้าน หรือทำให้ทรัพย์สินเสียหายได้ในภายหลังได้

ต้นไม้ไม่ผลัดใบ
www.vintagetreecare.com

เคล็ดไม่ลับในการดูแลไม้ไม่ผลัดใบ  

  1. หมั่นสังเกตความเปลี่ยนแปลงของใบ หากพบว่ามีพุ่มใบหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของต้นเริ่มเกิดอาการใบเหี่ยว ใบเหลือง ใบจุดหรือใบไหม้ให้รีบตัดตอนส่วนนั้นทิ้งไป
  2. มองหาผลิตภัณฑ์ที่ช่วยบำรุงสุขภาพของใบให้ดี อาจมองหาปุ๋ยสูตรบำรุงต้นหรือใบ อาทิ สูตร 25-7-7 หรือสูตรเสมอ 16 – 16 – 16 รวมถึงพวกยาฉีดพ่นใบเฉพาะจุด ช่วยดูแลรักษาโรคพืชได้อย่างดี
  3. หมั่นตัดแต่งกิ่งของต้นนั้นอย่างน้อย 2 – 3 เดือนครั้ง เพื่อให้ต้นแตกใบใหม่ ๆ และคงรูปร่างของทรงพุ่มที่สวยงาม
  4. ศึกษาลักษณะการขยายตัวของต้นนั้นให้ดี หากเป็นต้นที่ขยายออกด้านข้างพยายามเว้นระยะห่างในการปลูกจากตัวบ้าน หรือระยะห่างระหว่างต้นอย่างน้อย 4 – 5 เมตร อย่าปลูกติดเพราะจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของต้นไม้ที่ไม่สมบูรณ์ พุ่มใบแผ่ขยายออกไปได้ไม่เต็มที่
  5. เลือกพื้นที่และดินที่เหมาะสมกับการปลูกต้นไม้ชนิดนั้น เพราะต้นไม้ที่ไม่ผลัดใบแบบนี้ ใบของพวกมันจะสวยงามหรือแข็งแรงได้ขึ้นอยู่กับการดูดซับสารอาการของรากและการได้รับแสงแดดที่ทั่วถึง อีกทั้งต้นไม้บางชนิดชอบดินที่อุ้มน้ำได้ดีเพราะทนแล้งไม่ได้ แต่บางชนิดชอบดินที่มีการระบายน้ำได้ดี ไม่อุ้มน้ำไว้จนแฉะเพราะทนต่อน้ำขังไม่ได้ ต้องศึกษาว่าต้นไม้ชนิดนั้นต้องการดินแบบใดจะช่วยให้มันเจริญเติบโตได้อย่างแข็งแรงยิ่งขึ้น
สำหรับคนที่รักในการปลูกต้นไม้จะรู้ดีว่าการเลือกสรรพันธุ์ไม้มาประดับบ้าน นอกจากจะต้องคำนึงถึงเรื่องความชอบส่วนตัวแล้วก็ควรดูความเหมาะสมของพื้นที่ที่ใช้ปลูก ควรคำนึงถึงเรื่องการดูแลในระยะยาว เพราะต้นไม้เหล่านี้เป็นไม้ขนาดใหญ่การจะเคลื่อนย้ายเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยุ่งยาก ถ้าปลูกดี ๆ ก็จะเป็นต้นไม้ประดับบ้านที่มีอายุยืนยาวมากเลยทีเดียว ดังนั้น เราก็หวังว่าความรู้เกี่ยวกับการปลูกไม้ไม่ผลัดใบที่นำมาฝากทุกคนวันนี้จะเป็นประโยชน์กับใครหลายคนที่อยากปลูกต้นไม้ใหญ่ ๆ ไม่มากก็น้อย

แหล่งอ้างอิงข้อมูล

9 Reasons to Use Evergreen Shrubs in Your Garden
What is the evergreen plant