สมุนไพร ไทยนั้นมีมากมายหลากหลาย มีประโยชน์และมีสรรพคุณรักษาโรคต่าง ๆ รวมทั้งมีความสวยงาม บางชนิดใช้ปลูกเป็นไม้ประดับตกแต่งได้ แม้จะมีการประกาศคุ้มครองและรณรงค์ ให้ช่วยกันอนุรักษ์วางแผนส่งเสริมการปลูก พันธุ์ไม้ แต่ในความเป็นจริงสมุนไพรหลาย ๆ ชนิด ในประเทศไทยของเรานั้น มีความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ในแต่ละปีสูงมาก แต่จะมีชนิดใดบ้างนั้น วันนี้เราจะพาไปรู้จักกับสมุนไพรไทย 22 ชนิด ประโยชน์และสรรพคุณมากมาย แต่เสี่ยงจะสูญพันธุ์ มีอะไรบ้างเราลองไปดูกันเลย
1. เฉียงพร้านางแอ
ไม้ยืนต้นขนาดกลาง ลำต้นตั้งตรง ทรงพุ่ม เป็นไม้ไม่ผลัดใบ โตเต็มที่มีความสูงประมาณ 25 – 30 เมตร เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลอมแดง และสีน้ำตาลอมเทา ผิวเปลือกเรียบ หรืออาจแตกเป็นร่องลึก ใบเดี่ยวทรงรี ออกใบเรียงตรงข้ามแบบสลับ ออกดอกเป็นช่อแบบเป็นกระจุกสั้น ๆ และมีดอกย่อย ผลสุกกินได้ มีรสเปรี้ยวอมหวาน
ต้นเฉียงพร้านางแอบางต้นอาจมีรากออกมาจากส่วนโคนต้น สามารถพบได้ทุกภาคในประเทศไทย ที่เป็นป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้น มีสรรพคุณนิยมใช้ลำต้นต้มน้ำดื่มบำรุงร่างกาย ช่วยให้เจริญอาหาร แก้ร้อนใน แก้บิด เปลือกใช้บดช่วยสมานแผล
จำหน่ายกล้าไม้และไม้ล้อม ตลาดพันธุ์ไม้ประเทศไทย
2. พิษนาศน์ หรือ ถั่วดินโคก
เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก มีความสูงประมาณ 15 – 30 เซนติเมตร มีลำต้นสั้น ใบเหมือนขนนก เรียงสลับกัน แนบเป็นแนวนอนขนานกับพื้นดิน ใบย่อยจะมีประมาณ 9 – 13 ใบ เป็นรูปไข่ ผิวใบจะมีขนละเอียดสีขาว ส่วนดอกออกเป็นช่อที่ปลายยอด และมีดอกย่อยจำนวนมาก กลีบดอกจะเหมือนรูปฝักถั่ว สีม่วงเข้ม ก้านช่อดอกยาว มีผลเป็นฝัก มีเมล็ดเดียว และมีขนละเอียดสีขาว ประโยชน์คือ ช่วยลดไข้ในเด็ก ใช้ต้มน้ำดื่มช่วยบำรุงน้ำนม ส่วนใบสามารถนำมาฝนทาแก้ฝีได้อีกด้วย
ดูตลาดเมล็ดพันธุ์ รวมร้านค้าจากทั่วประเทศ
3. มะคังแดง
ไม้ยืนต้นกึ่งไม้พุ่ม ขนาดเล็กถึงกลาง โตเต็มที่มีความสูงได้ถึง 10 เมตร เป็นไม้ใบดกหนา เปลือกลำต้นสีน้ำตาลแดง มีขนนุ่ม ๆ ปกคลุมทั่วลำต้น โคนต้นและกิ่งมีหนามรอบ มะคังแดงเป็นไม้ใบเดี่ยว ใบรูปวงรี โคนใบมน ผิวใบมีขนหลังใบเรียบ ออกดอกเป็นช่อขนาดเล็กที่ซอกใบปลายกิ่ง ดอกย่อยสีเขียว ส่วนใหญ่พบตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง เนื้อไม้มะคังแดงนิยมใช้ต้มน้ำดื่มเป็นยาแก้เลือดลมเดินไม่สะดวก แก้พิษ และน้ำเหลืองเสีย เปลือกต้นตำละเอียด ใช้ตำพอกแผลสด หรือแผลพุพองเพื่อห้ามเลือด แก่นมะคังแดงใช้ต้มน้ำดื่มแก้ปวดเมื่อย แก้กระษัย แก้ปวดประจำเดือน
รู้จักกับ 8 สมุนไพรแก้สิว ดูแลผิวหน้าให้ขาวสดใส ไม่ต้องพึ่งครีม
4. เทพทาโร
เป็นสมุนไพรที่สูงประมาณ 10 – 30 เซนติเมตร เป็นไม้พุ่มทึบ กิ่งอ่อนเกลี้ยงและมีคราบสีขาว มีเปลือกสีเทาอมเขียว หรือสีน้ำตาลคล้ำ แตกเป็นร่องตามลำต้น เทพทาโรเป็นพืชใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามกัน ใบจะเป็นรูปรีหรือรูปไข่ ยาว 7 – 20 เซนติเมตร
มีปลายแหลม โคนสอบ ก้านใบเรียว ดอกสีขาวและสีเหลืองอ่อน ออกเป็นช่อกระจุกปลายกิ่ง มีผลกลมเล็ก คุณสมบัติของเทพทาโรคือ แก้ไข้หวัด แก้ไอ ตัวร้อน เนื้อไม้นำมาปรุงเป็นยาหอม แก้ท้องอืด แก้จุกเสียด
วิธีปลูกสมุนไพรง่าย ๆ ประโยชน์เยอะ ปลูกได้ทุกที่
5. มะตูมนิ่ม
เป็นไม้ยืนต้น สูงประมาณ 10 – 15 เมตร มีใบเดี่ยวออกเรียงสลับ เป็นรูปรีหรือใบหอก ปลายแหลม ขอบใบหยัก มีกลิ่นหอม ยอดอ่อนสามารถนำมากินเป็นผักสดจิ้มน้ำพริกได้ ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบและปลายยอด มีกลิ่นหอมแรงและไกล ผลรูปรีคล้ายไข่ สีเขียว เปลือกแข็ง สุกเต็มที่จะเป็นสีเหลือง เปลือกนิ่มใช้นิ้วกดจะบุ๋มลง เนื้อเป็นสีเหลืองมีเมล็ดมาก รสชาติหอมหวานปนฝาด สรรพคุณทางยา เป็นยาอายุวัฒนะ บำรุงกำลัง บำรุงเพศ ช่วยให้ผมหงอกช้า แก่ช้า ช่วยเจริญอาหาร ใช้ผลสุกต้มดื่มแทนชา หรือนำไปดองเหล้า รากแก้พิษไข้ แก้ปวดศีรษะ
6. มะหาด
เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่และเป็นไม้ผลัดใบ พบในป่าดิบ ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ พบมากทางภาคใต้ของไทย มีความสูงประมาณ 15 – 20 เมตร ลำต้นตรง ทรงพุ่มหรือแผ่กว้าง เปลือกลำต้นเป็นสีดำ สีเทาแกมน้ำตาล สีน้ำตาลอมแดง หรือสีน้ำตาลเข้ม เมื่อต้นแก่มาก ๆ ผิวเปลือกจะหยาบ ขรุขระ แตกเป็นสะเก็ด มีรอยแตกและมียางไหลซึมออกมาจนแห้งติดลำต้น กิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขน สรรพคุณของมะหาดจะเป็นยาแก้ลม เปลือกนำมาต้มน้ำกินแก้ไข้ได้ ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดและตอนกิ่ง โตได้ดีในดินทุกประเภท ชอบน้ำและความชื้นปานกลาง
7. ตับเต่า
ไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ทรงพุ่ม โตเต็มที่มีความสูงประมาณ 10 – 15 เมตร เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลปนเทา เปลือกด้านในเป็นสีน้ำตาลแดง พบได้ในทุกภาคของประเทศไทย ยกเว้นทางภาคใต้ ส่วนใหญ่จะพบในป่าเบญจพรรณ ตับเต่าขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด รากและแก่นนำมาต้มมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ ดับพิษร้อน แก้ร้อนใน บำรุงปอด เปลือกใช้ต้มรักษาโรครำมะนาด
แนะนำเลย 5 สมุนไพรเพื่อสุขภาพ เหมาะสำหรับผู้สูงอายุ
8. หัวร้อยรู
เป็นสมุนไพรมีหัวกลมโตขนาดใหญ่เท่าลูกมะพร้าว หัวจะมีลักษณะเป็นรูย้อนขึ้นย้อนลง หรือพรุน มดดำจะชอบอยู่ในหัว หากจะนำมาใช้ต้องนำไปแช่น้ำเพื่อให้มดดำออกไปให้หมดก่อน มีเนื้อนิ่มสีน้ำตาลไหม้ หัวจะมีรสทำให้เมา ชอบเกาะตามต้นไม้อื่นตามคบไม้ ประโยชน์ของหัวร้อยรูคือ ช่วยบำรุงหัวใจ ขับพยาธิ แก้พิษในกระดูก ในข้อ แก้พิษประดง รักษามะเร็งได้ โดยหัวร้อยรูจะจัดอยู่ในพิกัดมหากาฬทั้ง 5 ซึ่งหมายถึงการจำกัดตัวยารักษา 5 อย่าง คือ หัวถั่วพู หัวกระเช้าผีมด หัวมหากาฬนกยูง หัวมหากาฬใหญ่ และหัวร้อยรู ซึ่งจะมีฤทธิ์ช่วยแก้พิษ ถอนไข้ แก้อักเสบ แก้น้ำเหลืองเสีย
7 ผัก สมุนไพรช่วยลดความดันโลหิตสูง คุณค่าที่ควรปลูกไว้ติดบ้าน
9. พังคี
ไม้พุ่มขนาดเล็ก เปลือกลำต้นสีเทา ลำต้นตรงสูงประมาณ 50 เซนติเมตร เป็นพืชใบเดี่ยว ใบมีความสาก เป็นทรงรีขึ้นเรียงตรงข้ามกันตามกิ่งและก้าน ก้านใบออกเป็นสีเหลือง ปลายใบแหลม โคนใบมน ออกดอกเป็นช่อที่ปลายยอด รากพังคีมีสรรพคุณแก้อาการจุกเสียด ท้องอืดท้องเฟ้อ ใช้รากตำละเอียดประคบแก้อาการปวดบวมฟกช้ำ และยังสามารถนำรากพังคีไปเข้ายา ผสมกับสมุนไพรชนิดอื่นได้กว่า 30 ชนิด
รดน้ำต้นไม้ให้ถูกวิธี ช่วยให้ต้นไม้เจริญเติบโต
10. ชะเอมไทย
สมุนไพรต้นเป็นเถา มีตุ่มหนามทื่อ ๆ ขนาดเล็กตามลำต้นและกิ่งก้าน เปลือกผิวขรุขระออกเป็นสีน้ำตาลอ่อน น้ำตาลแก่ และสีดำ เนื้อไม้เป็นสีเหลืองอ่อน ๆ มีรสหวาน เปลือกต้นชะเอมไทยใช้ต้มกับน้ำดื่มช่วยแก้อาการไอ หากอาการไม่ดีขึ้นให้รับประทานติดต่อกัน 2 – 4 วัน ช่วยขับเสมหะ แก้น้ำลายเหนียว รากชะเอมไทยมีรสหวาน นำไปต้มดื่มช่วยให้ชุ่มคอ แก้กระหาย แก้ไอ ขับเสมหะ แก้เจ็บคอ
ปุ๋ยอินทรีย์ อาหารหลักสำคัญสำหรับพืช
11. เร่ว
เป็นสมุนไพรล้มลุก มีเหง้าที่เป็นลำต้นอยู่ใต้ดิน พบในภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคกลาง ใบเร่วจะเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ สีเขียวเข้มเป็นมัน ใบรี ยาว 12 – 20 เซนติเมตร กว้าง 4 – 7 เซนติเมตร ปลายใบแหลมห้อยโค้ง ก้านใบมีลักษณะเป็นแผ่นสั้น ออกดอกสีขาวเป็นช่อแทงขึ้นจากเหง้า คล้ายดอกข่า กลีบมีสีชมพูอ่อน และเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเทาตอนแก่จัด ก้านช่อไม่ยาว ผลเร่วมีสีน้ำตาล และมีขนสีน้ำตาลคลุม รสเฝื่อนออกเปรี้ยว ประโยชน์ของเร่วช่วยขับน้ำนม นำไปสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหยได้ แก้หืดหอบ แก้ไอ คลื่นไส้อาเจียน ลดเสมหะ เร่วเป็นพืชที่โตได้ในดินทุกชนิด ชอบดินร่วนและแสงแดดรำไร ขยายพันธุ์ได้ด้วยการใช้เหง้าหรือหน่อ
รวม 6 ไม้เลื้อยเกาะกำแพง ลดความร้อน ช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้บ้าน
12. กระทุ่มนา
เป็นไม้ผลัดใบ สูงประมาณ 8 – 15 เมตร ทรงพุ่มกลม พบทางตอนใต้ของจีนเรื่อยมาจนถึงมาเลเซีย ในไทยพบในเขตป่าเบญจพรรณ พื้นที่โล่งใกล้น้ำ หรือตามทุ่งนา เปลือกเป็นสีเทา จะหลุดออกเป็นแผ่นเล็ก ๆ ทำให้เปลือกดูขรุขระ ใบเดี่ยวรูปไข่ ออกเรียงสลับ ดอกมีสีเหลืองเป็นช่อซ้อนกัน 3 ชั้น ออกตามซอกใบ มีกลิ่นหอมแรง กระทุ่มนามีผลกลมหรือรูปไข่ ผิวขรุขระและแข็ง สรรพคุณทางยาคือ ช่วยลดความดันโลหิต แก้ท้วงร่วง แก้บิด รักษาโรคผิวหนัง ใช้ใบหรือเปลือกต้มกินหรืออมกลั้วคอ จะช่วยแก้อักเสบในช่องปากได้ดี ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด กระทุ่มนาชอบดินเหนียว ชอบน้ำมาก ชอบแสงแดดจัดทั้งวัน
จัดสวนสมุนไพร Modern Herb Garden อย่างไรให้สวยปัง
13. สะค้าน
ไม้เถาขนาดกลาง สกุลเดียวกับพริกไทย ลำต้นเป็นข้อปล้อง เป็นไม้เปลือกอ่อน เนื้อไม้ด้านในสีขาว เป็นพืชใบใบเดี่ยว รูปใบทรงหอกกว้าง ใบสีเขียวเข้ม ปลายใบแหลม ออกดอกเป็นช่อยาวเล็ก ดอกสีเหลืองอ่อนมีดอกย่อยอัดแน่น ส่วนใหญ่พบได้ในป่าดิบชื้นทุกภาคในประเทศไทย นิยมนำเถาสดไปตากแดดให้แห้งต้มน้ำดื่มเพื่อช่วยขับลม แก้จุกเสียดแน่นเฟ้อ เป็นยาบำรุงกำลัง แก้อาการปวดเมื่อย ลำต้นใช้ประกอบอาหาร ใส่แกง ช่วยเพิ่มกลิ่นหอม เพิ่มรสจัด
เคล็ดลับการเดินซื้อต้นไม้ในตลาดจตุจักรแบบเซียนต้นไม้
14. ขันทองพยาบาท
เป็นสมุนไพรที่พบในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในอินเดีย ในป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบ ป่าไม้ผลัดใบ เป็นไม้ยืนต้น สูงประมาณ 7 – 13 เมตร ทรงพุ่มทึบ กิ่งก้านที่ออกมาจะห้อยลู่ลง เปลือกสีน้ำตาลแก่แตกเป็นร่องตามยาว เนื้อไม้สีขาว ส่วนใบเป็นใบเดี่ยวหนา เหนียว และแข็ง ปลายใบแหลมหรือมน โคนแหลม หลังใบเรียบลื่นเป็นมัน ออกดอกเป็นช่อกลิ่นหอม มีสีเขียวอมสีเหลืองอ่อน ขันทองพยาบาทจะออกดอกในช่วงเดือนมีนาคม – พฤษภาคม ผลกลม ผิวเกลี้ยง ลูกอ่อนสีเขียว สุกแล้วจะเป็นสีเหลืองอมส้ม สรรพคุณทางยาใช้บำรุงเหงือกและฟัน แก้ไข้ ช่วยถอนพิษ ช่วยระบาย ฆ่าพยาธิ ขับระดู แก้โรคตับ และรักษากามโรคได้ ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด
เทคนิคจัดสวนเอง ฉบับประหยัดงบก็สวยปังได้ ไม่ต้องจ้าง!
15. นางแย้มป่า
ไม้พุ่มขนาดเล็ก ต้นตั้งตรง ลำต้นและกิ่งอ่อนสีแดงหรือสีดำอมน้ำตาล เป็นไม้ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะใบเป็นรูปไข่หรือรูปหัวใจ โคนใบสอบ แผ่นใบสีเขียวเข้ม ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง กลีบดอกสีขาว มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ในตอนเช้า ผลของนางแย้มป่ารูปทรงกลม ผลอ่อนสีเขียวผิวมัน เมื่อผลสุกจะเป็นสีดำ พบได้ทุกภาคของประเทศไทย ตามป่าเบญจพรรณ และป่าดิบ ยอดอ่อนของนางแย้มป่าใช้กินเป็นผักสดได้ หรือเป็นเครื่องเคียงจิ้มน้ำพริก หรือใส่ในแกงหน่อไม้ รากใช้ต้มเป็นยาแก้ไข้ รักษาลำไส้อักเสบ ขับปัสสาวะ โรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะ ใบใช้แก้โรคผิวหนัง แก้ผื่นคัน
ต้นยางนา ไม้มงคล ใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง มีสรรพคุณเป็นยาสมุนไพร
16. จุกโรหินี
เป็นสมุนไพรที่เป็นไม้ล้มลุก ตามข้อมีรากงอกมีไว้สำหรับเลื้อยทอดเกาะตามต้นไม้ พบได้ทั่วไปตามป่าชายเลน ป่าเบญจพรรณ ใบจุกโรหินีจะเป็นใบเดี่ยว มีความพิเศษคือ ใบมี 2 แบบ ใน 1 ต้น คือ แบบแรกคล้ายถุงปากแคบสี่เหลี่ยม ผิวด้านนอกเกลี้ยง สีเขียวหรือเหลือง ด้านในสีม่วง แบบที่ 2 เป็นใบแบบทั่วไป กลม หนา ปลายใบมน และอวบน้ำ ส่วนดอกนั้นออกเป็นช่อสั้น ๆ มี 5 กลีบ แต่ละช่อมีดอกประมาณ 6 – 8 ดอก ผลของจุกโรหินีออกเป็นฝักสีเหลืองแกมส้ม ผิวขรุขระ มีประโยชน์ช่วยลดน้ำตาลในเลือด บำรุงกำลัง แก้ไข้ ลดความร้อนในร่างกาย แก้ไอ แก้หอบหืด แก้อาการอาเจียน แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ขับลมได้ดี ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด
Top 4 สมุนไพรไทย ดูแลเส้นผม หนังศีรษะ และผิวพรรณ สวยจรดทั้งตัว!
17. ปลาไหลเผือก
ไม้พุ่มขนาดเล็ก ลำต้นตรง เปลือกมีสีน้ำตาล กิ่งก้านสั้น ออกเป็นกระจุกที่ปลายยอด กิ่งอ่อนจะมีขนสีน้ำตาล โตเต็มที่สูงได้ถึง 10 เมตร ออกดอกเป็นช่อ พวงใหญ่กระจุกอยู่ที่ปลายกิ่งและซอกใบ ช่อดอกยาวได้ถึง 30 เซนติเมตร รากต้นปลาไหลเผือกนิยมนำมาต้มน้ำดื่ม แก้ไข้ แก้ปวดท้อง คลายปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และช่วยบำรุงกำลังได้เป็นอย่างดี
9 พรรณไม้มากประโยชน์ ปลูกง่ายใช้ลดความอ้วน
18. สารภีป่า
ไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ไม่ผลัดใบ ความสูงของต้นประมาณ 8 – 20 เมตร ลำต้นมีลักษณะคด เปลือกแตกเป็นร่องไม่เป็นระเบียบ สีน้ำตาล เปลือกด้านในเป็นสีน้ำตาลแดง สารภีป่าเป็นไม้ใบเดี่ยว ออกใบแน่นที่ปลายกิ่ง ลักษณะใบเป็นรูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ส่วนใหญ่แล้วในประเทศไทยพบได้ทั่วไปในป่าสูงหรือบริเวณสันเขา เช่น ป่าสน ป่าดิบ และป่าเต็งรัง ดอกสารภีป่ามีสรรพคุณเป็นยาบำรุงหัวใจ ช่วยขยายหลอดลม ขับลม เปลือกเป็นยาแก้ไข้ และยาถ่ายพยาธิ
19. เปราะหอม
จัดเป็นไม้ล้มลุก มีอายุราว 1 ปี มีทั้งเปราะหอมแดงและเปราะหอมขาว ลำต้นเป็นเหง้าหรือหัวอยู่ใต้ดิน เนื้อภายในเหง้าสีเหลืองอ่อน มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว เป็นพืชใบเดี่ยว แทงใบขึ้นมาจากเหง้าใต้ดิน ประมาณ 2 – 3 ใบ มีลักษณะแผ่ราบไปตามพื้นดินเล็กน้อย เนื้อใบหนา ลักษณะใบค่อนข้างกลม ปลายใบแหลม โคนใบมน ก้านใบเป็นกาบ ขนาดใบกว้างประมาณ 5 – 10 เซนติเมตร ออกดอกเป็นช่อ ต้นเปราะหอมเติบโตได้ดีในที่ร่มช่วงฤดูฝน พบมากทางภาคเหนือของประเทศไทย สรรพคุณใช้เป็นยาแก้ปวดศีรษะ บำรุงหัวใจ บำรุงประสาท หัวเปราะหอมนำมาต้มน้ำดื่มช่วยคลายเครียด ช่วยให้นอนหลับง่าย หัวหรือเหง้านำมาบุบให้พอแหลก ใช้ประคบแก้ปวด
20. อบเชยไทย
ไม้ยืนต้นขนาดเล็กจนถึงขนาดกลางไม่ผลัดใบ เปลือกลำต้นสีเทาน้ำตาล ผิวเปลือกเรียบบาง เป็นไม้ใบเดี่ยวลักษณะใบเป็นรูปไข่ ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ ผิวใบเรียบมัน ใบอบเชยมีสีเขียวเข้ม ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ดอกสีเหลืองขนาดเล็กมีกลิ่นหอม ผลมีสีดำคล้ายรูปไข่ อบเชยไทยเป็นไม้ที่มีฤทธิ์ร้อน มีรสหอมหวาน ช่วยขับเหงื่อ แก้อาการอ่อนเพลีย แก้อาการท้องอืดแน่นท้อง น้ำมันอบเชยใช้เข้ายาขับลม เป็นยาหอม คนสมัยก่อนใช้เปลือกบดเป็นผง ใช้เป็นยานัตถุ์ แก้ปวดศีรษะ
รวม 9 พืชสมุนไพร น่าปลูกประดับตกแต่งสวน ใช้รักษาโรคได้มากมาย
21. เถาเอ็นอ่อน
เป็นไม้เถาเลื้อยเนื้อแข็ง เกาะเกี่ยวกับต้นไม้อื่น ลำต้นกลมมีลายประ เปลือกเรียบหนาสีน้ำตาลอมดำหรือสีแดงเข้ม เถาแก่เปลือกจะหลุดร่อนออก มียางสีขาวข้น เป็นไม้ใบเดี่ยว ออกใบเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะใบเป็นรูปรี ปลายใบมน โคนใบสอบ ขอบใบเรียบ แผ่นใบหนา ออกดอกเป็นช่อ ดอกย่อยมีสีเหลืองอ่อนหรือสีขาวอมเหลือง ออกผลเป็นฝัก ลักษณะฝักเป็นรูปทรงกระสวย เถาเอ็นอ่อนพบมากตามพื้นที่ป่าราบทางภาคกลางของประเทศไทย เป็นไม้ฤทธิ์เย็น นำเถามาใช้ต้มกินช่วยขับลม บำรุงร่างกาย แก้อาการฟกช้ำ แก้ปวดเมื่อย แก้กระษัย เคล็ดขัดยอก
เตรียมลิสต์ แมลงดีมีประโยชน์ในแปลงผัก
22. ชิงชี่
ไม้พุ่มกึ่งเลื้อยคด ลำต้นสีเทา ผิวเรียบเกลี้ยง ผิวเปลือกเป็นกระสีขาว ก้านอ่อนสีเขียว โตเต็มที่สูงประมาณ 2 – 5 เมตร เป็นไม้ใบเดี่ยวเรียงสลับ ใบรูปรีหรือรูปไข่ ปลายใบมนหรือแหลม โคนใบสอบ ออกดอกแบบเดี่ยวเรียงเป็นแถว 1 – 7 ดอก ตามซอกใบที่บริเวณปลายกิ่ง ผลของชิงชี่ลักษณะค่อนข้างกลม เมื่อผลสุกจะมีสีเหลืองแดงหรือดำ เนื้อหวานรับประทานได้ ใบชิงชี่สามารถนำมาต้มดื่มเป็นยาแก้ไข้ รากมีรสขมฝาดใช้ต้มน้ำดื่มช่วยขับลม แก้ไข้พิษร้อนทุกชนิด แก้หืด โรคกระเพาะ และเป็นยาบำรุงหลังคลอดบุตร หรือใช้รากตำละเอียดทาพอกแก้ฟกช้ำ ปวดบวม
จำหน่ายไม้ดอก ตลาดพันธุ์ไม้ประเทศไทย
สมุนไพรของไทยแต่ละชนิดก็มีประโยชน์ และสรรพคุณมากมาย มีหลายชนิดได้รับความคุ้มครอง แต่ก็ยังมีอีกหลายชนิด ที่กำลังมีความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ด้วยเช่นกัน หากเป็นไปได้ เราต้องช่วยกันรณรงค์ให้ร่วมกันดูแลสมุนไพรชนิดต่าง ๆ ให้ยั่งยืน เพื่อจะได้เป็นไม้ที่มีประโยชน์ ใช้ในการรักษาโรคต่าง ๆ และอยู่คู่กับป่าเมืองไทยตลอดไป