ข้อมูลพันธุ์พืช
รวมข้อมูลพันธุ์พืชชนิดต่างๆ
พืช เพื่อนที่อยู่ใกล้ตัวคุณ
ชีวิตในแต่ละวันเรามีเพื่อนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนบ้านที่ยิ้มแย้มทักทาย เพื่อนร่วมงานที่ช่วยเหลือเกื้อกูล เพื่อนปาร์ตี้ที่แบ่งปันรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ แต่รู้หรือไม่ เรายังมีพืชที่เป็นเพื่อนอีกกลุ่มหนึ่งที่แบ่งปันอากาศบริสุทธิ์ แบ่งปันความสดชื่นด้วยสีเขียวสบายตา แบ่งปันความสดใสด้วยดอกสีสวยและกลิ่นหอมชื่นใจ และเพื่อนกลุ่มนี้ยังสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้เราได้อีกด้วย
เราอาจจะเคยสังเกตเพื่อนสีเขียวของเราอยู่บ้าง บางชนิดเค้าก็ตัวเล็กนิดเดียว บางชนิดเค้าก็ตัวใหญ่ขนาดสิบคนยังโอบไม่รอบ และพืชแต่ละชนิดมีลักษณะที่แตกต่างกันไปทั้งราก ลำต้น ใบ ดอก และผล
พืช หมายถึง สิ่งมีชีวิตกลุ่มใหญ่ประเภทหนึ่ง กลุ่มพืชแบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ สาหร่ายสีเขียว พืชกลุ่มมอส พืชกลุ่มเฟิร์น และพืชที่ใช้เมล็ดในการสืบพันธุ์ ซึ่งพืชทั้ง 4 กลุ่มนี้ มีวงจรชีวิตและอาศัยในระบบนิเวศที่แตกต่างกัน
ราก
ถึงแม้พืชจะไม่เคลื่อนที่ไปไหน แต่สิ่งแวดล้อมโดยรอบก็มักกดดันให้พืชเคลื่อนที่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นกระแสน้ำเชี่ยวกราก หรือลมที่พัดแรง พืชจึงต้องมีสิ่งที่ยึดตัวเองไว้กับดิน คือรากนั่นเอง นอกจากนี้ รากยังมีความสำคัญในการดูดซับน้ำและแร่ธาตุเพื่อใช้ในการเป็นอาหารเลี้ยงตัวเองให้เจริญเติบโต พืชบางชนิดใช้รากในการเก็บอาหาร รากจึงมีขนาดใหญ่ พืชบางชนิดมีรากที่โผล่พ้นดินเพื่อช่วยผยุงไม่ให้ลำต้นล้มง่าย
ลำต้น
เป็นส่วนที่เชื่อมต่อระหว่างรากกับใบ ผล ดอก ทำหน้าที่ลำเลียงน้ำและแร่ธาตุจากรากมาสู่ใบ พืชบางชนิดมีลำต้นที่ใหญ่และแข็งแรงสามารถรับน้ำหนักของกิ่งก้านได้ บางชนิดมีลำต้นที่บอบบางรับน้ำหนักได้เฉพาะใบ บางชนิดลำต้นอ่อนเลื้อยไปตามผนังหรือพื้นดิน
ใบ
คนทั่วไปมักจำแนกชนิดพืชจากใบเพราะสังเกตง่าย โดยดูจากสี ขนาด รูปร่าง และประเภทของใบ ใบของพืชถือได้ว่าเป็นโรงงานผลิตที่สำคัญของระบบนิเวศ จากปฏิกิริยาระหว่างน้ำและคาร์บอนไดออกไซด์โดยมีแสงเป็นพลังงานกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยา เราเรียกกระบวนการนี้ว่ากระบวนสังเคราะห์แสง ผลผลิตที่ได้คือ น้ำตาล ซึ่งจะถูกนำไปเก็บเป็นพลังงานสะสมที่ส่วนต่างๆ ของพืช และออกซิเจนที่ปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม เป็นส่วนหนึ่งของอากาศให้เราหายใจ นอกจากนี้ ด้านล่างของใบมีสิ่งที่เรียกว่าปากใบ ทำหน้าที่เปิด-ปิดคายน้ำ เพื่อรักษาสมดุลอุณหภูมิของพืชด้วย
ดอก
ดอกไม้จัดได้ว่าเป็นส่วนที่ดึงดูดความสนใจที่สุด เพราะมีสีสันที่สวยงาม ดอกไม้ประกอบด้วยส่วนที่สำคัญ คือ เกสรดอกไม้ ซึ่งมีทั้งเกสรเพศผู้และเกสรเพศเมีย ในพืชหลายชนิดเรามักจะเห็นเกสรเพศเมียอยู่ระดับที่เหนือกว่าเกสรเพศผู้ ซึ่งเป็นกลไกทางธรรมชาติป้องกันไม่ให้มีการผสมพันธุ์ภายในดอกเดียวกัน กระบวนการปฏิสนธิของพืชดอกเริ่มจากสีสันสวยงามและกลิ่นหอมของกลีบดอกจะเย้ายวนเชิญชวนแมลงมาเกาะเพื่อดอมดมและดูดกินน้ำหวาน ในระหว่างนี้ละอองเกสรตัวผู้จะติดเท้าของแมลงที่ทำหน้าที่เป็น “แม่สื่อ” และไปผสมกับเกสรตัวเมียที่ดอกอื่น หลังจากปฏิสนธิแล้วส่วนต่างๆของดอกจะเปลี่ยนเป็นส่วนของผล โดยรังไข่เจริญเป็นผล ผนังรังไข่เจริญเป็นเปลือกและเนื้อของผลไม้ ออวุลเจริญเป็นเมล็ด ไข่ที่ได้รับการผสมแล้วเจริญเป็นต้นอ่อนอยู่ในเมล็ด
ผลและเมล็ด
หลายคนคงนึกถึงทุเรียน มังคุด เงาะ สตรอเบอรี่ และผลไม้อีกหลากหลาย ซึ่งเป็นอาหารและแหล่งพลังงานให้คนและสัตว์ ผลไม้บางชนิดเป็นผลเดี่ยว บางชนิดเป็นผลกลุ่ม ซึ่งภายในผลไม้มีเมล็ดที่มีต้นอ่อนอยู่ภายใน พร้อมที่จะงอกและเจริญเป็นต้นใหม่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย ไม่ว่าจะเป็นแร่ธาตุในดิน น้ำ อากาศ และอุณหภูมิที่เหมาะสม
มาถึงตรงนี้แล้ว เราคงเห็นกันแล้วว่า เพื่อนสีเขียวของเรามีบทบาทสำคัญมากในระบบนิเวศ ทำหน้าที่เป็นผู้ผลิตโดยการนำพลังงานแสงมาเปลี่ยนเป็นพลังงานเคมีในรูปของสารอาหาร ประกอบด้วย คาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน อีกทั้งยังผลิตออกซิเจนและไอน้ำ ซึ่งถูกปล่อยจากใบสู่อากาศ พลังงานเหล่านี้จะถูกถ่ายทอดไปสู่คนและสัตว์ในฐานะผู้บริโภค ทำให้เกิดการถ่ายทอดพลังงานภายในระบบนิเวศโดยมีการหมุนเวียนอย่างสมดุล
แม้ว่าพืชมีวิวัฒนาการมายาวนานหลายร้อยล้านปีเพื่อให้อยู่รอดในธรรมชาติจากสภาพภูมิอากาศที่แปรเปลี่ยนไป แต่การเพิ่มขึ้นของประชาการโลกอย่างรวดเร็วในช่วง 100 ปีที่ผ่านมานี้ ทำให้ทรัพยากรของโลกถูกบริโภคเป็นจำนวนมาก การทำเกษตรแบบดั้งเดิมไม่เพียงพอต่อการผลิต องค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ในระดับเซลล์พืชและพันธุกรรม จึงถูกนำมาพัฒนาต่อยอด ซึ่งไม่เพียงแค่ประโยชน์ทางด้านเกษตร ยังมีประโยชน์ในด้านอุตสาหกรรม การแพทย์ และสิ่งแวดล้อมด้วย
พืชดัดแปลงพันธุกรรม (GMOs-Genetically Modified Organisms)
คงเป็นเรื่องตื่นตาตื่นใจไม่น้อยที่เราจะมีพืชผลเกษตรที่วางขายในตลาดได้นานกว่าปกติ มีพืชที่ทนทานต่อศัตรูพืชจนทำให้ลดการใช้ยาฆ่าแมลงซึ่งเป็นพิษต่อเกษตรกร หรือแม้กระทั้งมีวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิตยาหรือวัคซีนที่มากขึ้น สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจริงได้จากความสามารถของมนุษย์ในการปรับเปลี่ยนพันธุกรรมของพืชโดยการคัดเลือกในระดับโมเลกุลของดีเอ็นเอ เรามาเรียนรู้เรื่องพืช gmo หรือ พืชดัดแปลงพันธุกรรม